เสวนา "พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากฯ" นายก อบจ.นครสวรรค์  ร่วมเสวนา คณะมนุษย์ฯ ม.ราชภัฏฯ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  

เสวนา "พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากฯ" นายก อบจ.นครสวรรค์  ร่วมเสวนา คณะมนุษย์ฯ ม.ราชภัฏฯ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ในการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาอาจารย์และบุคลากร ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับตำบล จังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี 

       เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมรัตนพิมาน อาคาร 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์  จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนความเห็น ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาอาจารย์และบุคลากร ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับตำบล จังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยมีคณะอาจารย์และบุคลากร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 30 คน เข้าร่วมการอบรม และมีพิธีเปิดโดย รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นประธาน ดร.สนั่น กัลปา กล่าวรายงาน

           การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาอาจารย์และบุคลากร ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับตำบล จังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดทำแผน และยกร่างแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับตำบล โดยเชิญพลตำรวจเอกสมศักดิ์  จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์  ร่วมแลกเปลี่ยน นำเสนอข้อคิดเห็นในการจัดอบรมดังกล่าว ร่วมกับ รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง  มีผศ.ดร.วรวิทย์ นพแก้ว เป็นผู้ดำเนินรายการ และจากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษโดย ดร.นเรศ คงโต
นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การที่จะลงไปทำอะไรในพื้นที่นั้น เราต้องศึกษา หาข้อมูล ด้านต่างๆในพื้นที่ รวมถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า เขาต้องการอะไร และเราจะช่วยดูแลแก้ไขให้เขาได้อย่างไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้นทุนทางธรรมชาติเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ

         พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "การที่เราจะลงไปทำอะไรในพื้นที่นั้นเราต้องปรับ mindset ของประชาชนในพื้นที่ ให้เข้าใจตรงกันก่อน ไม่ใช่บอกว่าเขาไม่เข้าใจเรา เราก็ต้องย้อนกลับมาดูด้วยว่า หรือว่าเราไม่เข้าใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของเทคโนโลยี ที่จะลงไปสู่ชาวบ้านต้องดูว่าชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ หากมันมีราคาสูงเกินไปก็คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเขาไม่มีต้นทุนมากเพียงพอที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แล้วก็ต้องคำนึงถึงวิธีการอีกว่าจะทำอย่างไรจึงจะยั่งยืน จึงจะถือว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง"
////
ชาติชาย/นครสวรรค์