องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ  

องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ

       วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พร้อมเสื้อกันหนาวเด็ก ไปมอบแก่ผู้แทนราษฎร ผู้ปฏิบัติงาน และเด็กในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ภูพยัคฆ์ จำนวน 150 ถุง เสื้อกันหนาวเด็ก จำนวน 114 ชุด และโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ สะจุก-สะเกี้ยง จำนวน 378 ถุง เสื้อกันหนาวเด็ก จำนวน 235 ชุด สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยราษฎรเสมอมา

       โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะฯ ได้พบปะเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการฯ จากนั้นรับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์และติดตามผลการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ภูพยัคฆ์ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบริเวณบ้านน้ำรีพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 100,000 กว่าไร่ มีพื้นที่ฟื้นฟูสภาพป่าประมาณ 10,000 ไร่ และพื้นที่เพื่อพัฒนาการเกษตรประมาณ 500 ไร่ โดยเน้นเรื่อง “คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน” และ “คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องทำลายซึ่งกันและกัน” ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูป่าได้ตามเป้าหมาย สภาพป่ามีความสมบูรณ์ส่งผลถึงแหล่งต้นน้ำมีน้ำไหลตลอดปี ราษฎรสามารถประกอบอาชีพการเกษตรทั้งพืชผัก การปลูกหม่อน กาแฟ และมีการรวมกลุ่มทำให้มีช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่รับซื้อผลผลิต นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนการทำนาแบบเดิมซึ่งให้ผลผลิต 15-20 ถังต่อไร่ เปลี่ยนเป็นนาขั้นบันไดซึ่งให้ผลผลิตถึง 30 ถังต่อไร่ ทำให้มีข้าวบริโภคได้อย่างพอเพียง ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถส่งบุตรหลานเรียนในระดับที่สูงขึ้น

        จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยัง ฐานปฏิบัติการหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3253 บ้านสว้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง จำนวน 110 ถุง ได้แก่ ฐานปฏิบัติการบ้านนาขวาง (มว. ตชด.3251) จำนวน 20 ถุง ฐานปฏิบัติการบ้านสว้า (ตชด.3253)  จำนวน 20 ถุง ฐานปฏิบัติการบ้านสบมาง (มว.ตชด.3254)  จำนวน 30 ถุง และกองร้อยทหารพรานที่ 3204 จำนวน 40 ถุง พร้อมกันนี้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ ช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อเชิญถุงพระราชทาน พร้อมเสื้อกันหนาวเด็ก มอบแก่ผู้แทนราษฎร ผู้ปฏิบัติงาน และเด็กในพื้นที่โครงการ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสบขุ่น จำนวน 341 ถุง เสื้อกันหนาวเด็ก จำนวน 312 ชุด และโครงการพัฒนาบ้านกอก-จูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปัว จังหวัดน่าน จำนวน 158 ถุง เสื้อกันหนาวเด็ก จำนวน 42 ชุด ซึ่งราษฎรและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในครั้งนี้

       จากนั้นองคมนตรี ได้พบปะสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของราษฎร ต่อจากนั้นรับฟังการบรรยายสรุปผลความก้าวหน้าของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น ซึ่งดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มุ่งเน้นให้ คนอยู่คู่กับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 มิติ คือ มิติด้านทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ปลูกฟื้นฟูบำรุงรักษาระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และมิติด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตดำเนินการพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร ปัจจุบันระบบนิเวศป่าต้นน้ำกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ส่งผลให้ป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นแหล่งอาหาร และไม้ใช้สอยให้แก่ชุมชนในพื้นที่จำนวน 10,620 ไร่ ราษฎรมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคจากป่าที่ได้รับการฟื้นฟู อีกทั้ง พืชอาหาร เช่น ต๋าว สามารถให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก่อเกิดความอยู่ดี กินดี ให้แก่ราษฎรได้อย่างยั่งยืนเสมอมา


สำนักงาน กปร.
กองประชาสัมพันธ์