กรมธนารักษ์-กทม.-พอช. จับมือหนุนชุมชนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย สร้างบ้านมั่นคง ‘ยานนาวาโมเดล’ ย้ำ “คนจนก็อยู่ในเมืองได้”
1/ ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมงานมอบสัญญาเช่าที่ดินและยกเสาเอกสร้างบ้านชุมชนเย็นอากาศ 2
ชุมชนเย็นอากาศ กรุงเทพฯ / กรมธนารักษ์-กทม.-พอช. จับมือชุมชนคนจนเมืองสนับสนุนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย สร้างบ้านมั่นคง โดยใช้ ‘ยานนาวาโมเดล’ เป็นต้นแบบ ตอกย้ำ “คนจนก็อยู่ในเมืองได้” โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดิน กทม.และ พอช.ร่วมสนับสนุน ล่าสุดยกเสาเอกสร้างบ้านชุมชนเย็นอากาศ 2 รวม 262 หลัง ขณะที่ ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม. พร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง
ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมืองเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน โดยเฉพาะที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาแพง ขณะเดียวกันคนจนซึ่งเป็นแรงงานขับเคลื่อนเมือง เช่น ทำงานรับจ้าง กรรมกร แม่บ้าน รปภ. ลูกจ้าง กทม. ขับรถรับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์ ขายอาหาร รับซื้อของเก่า ขยะรีไซเคิล ฯลฯ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งงาน เคยเช่าที่ดินราคาถูกปลูกสร้างบ้านในเมืองมีแนวโน้มจะถูกขับไล่ เช่น ชุมชนในเขตยานนาวาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต้องรื้อย้ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ชุมชน เพราะเจ้าของที่ดินไม่ต่อสัญญาเช่า อย่างไรก็ตาม ชุมชนเหล่านี้ได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหา โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน เช่น กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนชุมชนตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’ กทม. ร่วมอำนวยความสะดวก มีชุมชนนำร่องที่ทำโครงการไปแล้ว คือ ชุมชนเชื้อเพลิงพัฒนา 2 เขตยานนาวา เช่าที่ดินกรมธนารักษ์ปลูกสร้างบ้าน สร้างเสร็จไปแล้ว 40 หลัง จากทั้งหมด 145 หลัง
‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม.- ‘กอบศักดิ์’ บอร์ด พอช.-ผู้แทนกรมธนารักษ์ ร่วมยกเสาเอกสร้างบ้านมั่นคงเย็นอากาศ 2
ล่าสุดวันนี้ (29 ตุลาคม) ระหว่างเวลา 9.00-13.00 น. ที่ชุมชนเย็นอากาศ 2 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ พิธีมอบสัญญาเช่าที่ดิน และพิธียกเสาเอก ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเย็นอากาศ 2 จำกัด’ โดยมีนายอาทร ยงกิตติธรากุล ผู้แทนกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมเป็นประธานในพิธี มีนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. ผู้แทนสำนักงานเขตยานนาวา ชาวชุมชน และเครือข่ายชาวบ้านเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน 2 / นายชัชชาติ ผู้ว่า กทม. และนายกอบศักดิ์ ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (ขวาสุด)
นางอรุณวรรณ พรหมรอด ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเย็นอากาศ 2 จำกัด (ชุมชนเย็นอากาศ 2 ) บอกว่า ชุมชนตั้งอยู่ในที่ดินกรมธนารักษ์ อยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปี แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 9 ไร่เศษ มีบ้าน 364 หลัง สภาพบ้านเรือนแออัด ชำรุดทรุดโทรม เพราะปลูกสร้างกันมานาน มีชาวบ้านประมาณ 1,200 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย เพราะไม่ได้เช่าที่ดินกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนจึงร่วมกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคง โดยรวมตัวกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน ครอบครัวหนึ่งออมอย่างต่ำเดือนละ 500 บาท ต่อมาในช่วงปลายปี 2564 จึงจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเย็นอากาศ 2 จำกัด’ และทำเรื่องขอเช่าที่ดิน (ผืนเดิม) จากกรมธนารักษ์เพื่อปลูกสร้างบ้านเฟสแรก โดยชุมชนได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ระยะแรก 2 ไร่ 3 งานเศษ ระยะเวลา 30 ปี เพื่อสร้างบ้านให้แก่ครอบครัวที่โดนไฟไหม้ก่อน (ไฟไหม้เดือนสิงหาคม 2564) จำนวน 13 หลัง เป็นบ้านแถว 2 ชั้นขนาด 4 X 6 ตรม. หลังจากนั้นจะทยอยสร้างต่อไป รวมทั้งหมด 262 หลัง ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 430,000 บาท โดยชาวบ้านใช้เงินออมรายเดือน ส่วนที่เหลือจะใช้สินเชื่อและงบสนับสนุนบางส่วนจาก พอช
3 / นายอาทร ยงกิตติธรากุล ผู้แทนกรมธนารักษ์ (ที่ 3 จากซ้ายไปขวา) มอบสัญญาเช่าที่ดินให้ชาวชุมชน ‘ชัชชาติ’ ย้ำ กทม. พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญของเมือง หากประชาชนเกิดความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยเขาจะมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองและก็ช่วยกันดูแล เพราะถ้าไม่มีความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยโอกาสและช่องทางของชีวิตจะ ไม่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องการศึกษา ก็จะมีปัญหาตามมา “เพราะฉะนั้นต้องขอบคุณ พอช.ที่มีโครงการสร้างบ้านมั่นคงให้กับพี่น้องที่มีรายได้น้อย สิ่งสำคัญก็คือการร่วมมือกันเป็นชุมชน ร่วมกันอดออม เพื่อสร้างบ้านมั่นคง ซึ่งการอดออมจะเปลี่ยนนิสัยหลายๆ อย่างในอนาคต ทำให้มีที่อยู่อาศัยระยะยาวมั่นคง ลูกไปโรงเรียนได้มั่นคงขึ้น อาชีพการงานมั่นคงขึ้น สุดท้ายก็จะลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว และเป็นโครงการที่ กทม.พร้อมที่จะร่วมมือและไปด้วยกัน หลายๆ ภาคส่วนช่วยกัน ส่วน กทม.ก็จะดูแลเรื่องอาชีพ เรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุขด้วย” นายชัชชาติกล่าว
4 ส่วนเรื่องข้อเสนอของเครือข่ายชุมชน กรณีการขอใช้ที่ดินที่ กทม.ไม่ได้ใช้ประโชน์ เช่น ลำรางสาธารณะที่เสื่อมสภาพเพื่อนำมาเป็นที่ดินรองรับที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยนั้น ผู้ว่า ฯ กทม.บอกว่า เรื่องนี้มีเงื่อนไขและกฎหมายอยู่ต้องไปทำการพิสูจน์ว่า ลำรางไม่ใช่เป็นที่สาธารณะแล้ว เราพยายามผลักดันให้ทำให้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องดูด้วย เพราะเราไม่ใช่เจ้าของที่ดิน กทม.เป็นผู้ดูแลแทนประชาชนส่วนใหญ่ ฉะนั้นกฎระเบียบต่างๆ ก็ต้องพยายามทำให้มันถูกต้อง แต่ต้องทำให้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมาการทำตรงนี้ช้า หลายชุมชนก็รออยู่เป็นสิบปีเลย พยายามเร่งรัดมีขั้นตอนให้มันชัดเจน อันไหนเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ก็ต้องทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วก็พยายามดูแลพี่น้องประชาชนให้สมดุลกัน ส่วนเรื่องนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หลักการคือเราร่วมมือกับคนอื่นดีกว่า เพราะ กทม.ไม่ได้มีเงินมาก เงินเราต้องดูแลหลายส่วน และมีหน่วยงาน เช่น การเคหะฯ พอช. ที่ทำอยู่แล้ว กทม.ร่วมมือกับเขาจะได้พลังบวกมากกว่า เพราะยังไง กทม.ก็ต้องไปร่วมมืออยู่แล้ว พอสร้างบ้านเสร็จ กทม.ก็ต้องไปดูแลต่อในแง่ของสาธารณสุข การศึกษา พัฒนาชุมชน “หลักคือว่าอย่าทำคนเดียว หาแนวร่วมจะดีกว่า เพราะเงินทุนเราไม่ได้มีเยอะ จุดมุ่งหมายเราไม่ได้ทำเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียว เรามีเรื่องการรักษา การศึกษาด้วย ก็ให้คนที่เชี่ยวชาญทำ แล้วร่วมมือกัน” นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวในตอนท้าย
5 พอช.หนุนชุมชนต้นแบบแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน กทม. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช.ทำโครงการบ้านมั่นคงมา 20 ปีแล้ว และโครงการนี้มีความสำคัญมาก เพราะชีวิตคนเราจะเริ่มไม่ได้ถ้าไม่มีบ้าน การมีบ้านจึงจะเป็นการเริ่มต้นชีวิต เริ่มการสะสมตู้เสื้อผ้า อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิต ซึ่งชุมชนนี้เริ่มต้นจากการเก็บออม ตั้งสหกรณ์ขึ้นมา หลังจากนั้นรวมตัวกันเพื่อสร้างบ้าน ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ พอช.จะพยายามทำทุกชุมชนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อทำให้ชีวิตของคนที่มีรายได้น้อยมีชีวิตที่ดีขึ้น และ พอช.ก็จะทำงานกับผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป
“คนในเมือง 30%เป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่มีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคง วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของพวกเราที่พวกเราร่วมกันทำ ทำให้ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีบ้านที่มั่นคงที่มากกว่าบ้าน สมาชิกมีการเก็บออมร่วมกัน มีระบบสหกรณ์ในการบริหารจัดการ เป็นจุดที่ทุกคนได้เริ่มต้นชีวิต และเมื่อเราพร้อม เป็นต้นแบบที่ดี หน่วยงานต่างๆ ก็พร้อมให้การสนับสนุน และต่อไปเราจะทำเรื่องการค้าขายแถวชุมชน ไม่ต้องไปทำงานไกลๆ แต่ต้องจัดระเบียบ ให้มีความสวยงาม และต้องขอขอบคุณกรมธนารักษ์เจ้าของที่ดินที่สนับสนุนชุมชน ให้ชาวชุมชนได้เช่าที่ดิน” นายกอบศักดิ์กล่าว
6 / นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ทั้งนี้ข้อมูลจาก พอช. ระบุว่า ในกรุงเทพมหานครมีชุมชนทั้งหมดจำนวน 2,481 ชุมชน ในพื้นที่ 50 เขต มีชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 1,261 ชุมชน ผู้เดือดร้อนประมาณ 168,572 ครัวเรือน ได้รับการแก้ไขปัญหาตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.แล้วในพื้นที่ 39 เขต รวม 185 ชุมชน รวม 20,358 ครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 15 % และยังไม่ได้แก้ปัญหา 85 %
ดังนั้น พอช. และเครือข่ายชุมชนใน กทม.จึงมีแนวทางร่วมกับ กทม.เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยร่วมกัน โดยมีกลไกที่จะใช้แก้ไขปัญหาร่วมกันคือ ‘คณะกรรมการเมือง’ ซึ่งมีการจัดตั้งแล้วใน 30 เขต จากพื้นที่ กทม.ทั้งหมด 50 เขต เพื่อทำหน้าที่ในการสำรวจข้อมูลปัญหา นำข้อมูลมาวางแผน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งเมืองอย่างไรก็ตาม เครือข่ายชุมชนในกรุงเทพฯ ได้ยื่นข้อเสนอถึง กทม. เพื่อให้ทบทวนกลไกคณะกรรมการเมือง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยมีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการเมืองให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยมีองค์ประกอบของกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต ภาคประชาชน ผู้เดือดร้อน สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการหารือ พูดคุย วางแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตร่วมกัน โดยให้สำนักงานเขตเป็นเจ้าภาพ และภาคประชาชนเป็นเลขาร่วม‘ยานนาวาโมเดล’ นางสำลี ศรีระพุก ผู้แทนเครือข่ายเมืองยานนาวา กล่าวว่า เดิมชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเขตยานนาวามีทั้งหมด 23 ชุมชน ซึ่งเมื่อก่อนที่ดินในย่านนี้ยังไม่เจริญ เป็นที่ดินรกร้าง แต่เมื่อมีการตัดถนน มีทางด่วน ทำให้ที่ดินในย่านยานนาวาเจริญขึ้น มีราคาแพงขึ้น กลายเป็นที่ดินกลางเมืองเพราะเชื่อมต่อกับถนนสาธร เจริญกรุง พระราม 3 พระราม 4 เจ้าของที่ดินจึงขายที่ดินหรือนำไปพัฒนาสร้างราคา
ชุมชนที่เคยเช่าที่ดินราคาถูกปลูกสร้างบ้านจึงถูกขับไล่ หรือไม่ต่อสัญญาเช่า ที่ผ่านมามีประมาณ 6 ชุมชน เช่น ชุมชนคลองเสาหิน จตุรมิตร เจ้าพระยา หลังปั๊มเอสโซ่คลองด่าน สามัคคีรวมใจ ฯลฯ ทำให้ชาวชุมชนแตกกระจาย ต้องไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ ตอนนี้ชุมชนในเขตยานนาวาจึงเหลือ 17 ชุมชน
“จากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนต่างๆ จึงรวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายเมืองยานนาวา’ เพื่อรวมพลังชุมชน แก้ไขปัญหา มีกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน มีกองทุนสวัสดิการชุมชนเอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน มีการสำรวจข้อมูลชุมชนที่เดือดร้อนเรื่องปัญหาที่ดิน เพื่อเตรียมจัดทำโครงการบ้านมั่นคง โดยมีชุมชนที่นำร่องทำไปแล้วคือ ชุมชนเชื้อเพลิง 2 เริ่มสร้างบ้านเมื่อปี 2562” ผู้แทนเครือข่ายเมืองยานนาวาบอก
7 / ผู้ว่าชัชชาติเยี่ยมชุมชนเชื้อเพลิง 2‘ชุมชนเชื้อเพลิง 2’ นำร่องบ้านมั่นคงเขตยานนาวา ศุบุญเยี่ยม คงกระพันธ์ ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ จำกัด (ชุมชนเชื้อเพลิง 2) บอกว่า ชุมชนอยู่ในเขตยานนาวา สภาพเดิมเป็นชุมชนแออัด เกือบ 200 ครอบครัว ตั้งอยู่ในบึงน้ำครำ เป็นที่ดินราชพัสดุที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ เมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่ดินในย่านนี้ยังเป็นที่ดินรกร้าง จึงมีชาวบ้านจากที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำมาหากิน เพราะอยู่ไม่ไกลจากตลาดคลองเตย ท่าเรือคลองเตย สถานีรถไฟแม่น้ำ (ขนถ่ายสินค้า ย่านพระราม 3) ซึ่งเป็นแหล่งงาน ชาวชุมชนยังคงอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานาน แต่ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยเพราะไม่รู้ว่าหน่วยงานเจ้าของที่ดินจะขับไล่ในวันไหน ต่อมาชาวชุมชนจึงได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย มีคณะกรรมการรับผิดชอบ ให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมออมเงินเข้ากลุ่มครอบครัวละ 300-500 บาทต่อเดือน ต่อมาในปี 2552 จึงจดทะเบียนเป็น ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ จำกัด’ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ในปี 2555 ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน (ที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เดิม) เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งานเศษกับกรมธนารักษ์ ในอัตราผ่อนปรน ระยะเวลาเช่า 30 ปี (ตามกฎกระทรวงการคลัง หลังนั้นต่อสัญญาได้อีกคราวละ 30ปี)
8 /ชาวชุมชนเชื้อเพลิง 2 “กว่าจะรวมตัวกันสร้างบ้านได้ก็ถือว่ายากลำบากมาก เพราะมีคนต่อต้าน เช่น เจ้าของบ้านเช่าในชุมชน เพราะเขาจะเสียผลประโยชน์จากค่าเช่าบ้าน มีคนที่ไม่อยากจะเข้าร่วม เขาบอกว่าอยู่มานานแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน แต่พอจะทำบ้านมั่นคงต้องเสียเงินสร้างบ้านใหม่ คณะกรรมการชุมชนต้องช่วยกันชี้แจงว่า ที่ดินตรงนี้ไม่ใช่ของเรา เราบุกรุกที่ดินหลวงอยู่ ถ้าเราเช่าได้มันก็จะได้ถูกกฎหมาย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ออกไปอยู่ไกลๆ ได้สร้างบ้านใหม่ในที่เดิม ไม่ใช่อยู่บนน้ำครำเน่าเฉอะแฉะ ลูกหลานจะได้มีบ้านใหม่ ทำมาหากินก็สะดวกเพราะอยู่ในเมือง” ศุบุญเยี่ยมบอก ส่วนกระบวนการทำงานนั้น ศุบุญเยี่ยมบอกว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยกันดำเนินการ เช่น ฝ่ายสำรวจข้อมูล ลงไปสำรวจข้อมูลครัวเรือน ผู้ที่มีสิทธิ์ การออมเงินต้องสม่ำเสมอ ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ฯลฯ สำรวจรายได้ รายจ่าย ความสามารถในการผ่อนชำระ ฯลฯ เพื่อเอาข้อมูลมาจัดทำโครงการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสร้างความเข้าใจ จัดประชุมทุกเดือน พาชาวบ้านไปดูโครงการบ้านมั่นคงในชุมชนต่างๆ ที่สร้างเสร็จแล้ว ให้เห็นตัวอย่างบ้านเรือนสวยงาม มีสวนหย่อม มีที่ว่างให้ลูกหลาน คนแก่ได้ออกกำลังกาย จนคนส่วนใหญ่เห็นดีด้วย
ยานนาวาโมเดล “คนจนก็อยู่ในเมืองได้” โครงการบ้านมั่นคง ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเชื้อเพลิง 2 ร่วมใจ จำกัด’ เริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปี 2562 โดยสหกรณ์ฯ ได้จัดจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้าน เฟสแรก 40 หลัง จากทั้งหมด 145 หลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 3 แสนบาท โดย พอช.สนับสนุนงบสาธารณูปโภคและอุดหนุนการสร้างที่อยู่อาศัยบางส่วน และสำนักงานเขตยานนาวาสนับสนุนด้วยการอำนวยความสะดวกต่างๆ
ส่วนชาวบ้านใช้เงินออมสมทบในการก่อสร้าง และใช้สินเชื่อระยะยาวจาก พอช. ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2 พันบาทเศษ ระยะเวลา 15 ปี ปัจจุบันก่อสร้างบ้านเฟสแรก 40 หลังเสร็จแล้ว ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว ขณะนี้กำลังก่อสร้างเฟสที่ 2 จำนวน 30 หลัง จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยสร้างต่อไป
9 / บ้านมั่นคงชุมชนเชื้อเพลิง 2 กำลังก่อสร้างเฟสที่ 2
สำลี ศรีระพุก ผู้แทนเครือข่ายเมืองยานนาวา บอกในตอนท้ายว่า ในเขตยานนาวา มีชุมชนแออัด 23 ชุมชน กว่า 3 พันครอบครัว โดนไล่ที่แล้ว 6 ชุมชน เหลือ 17 ชุมชน เป็นที่ดินเช่าเอกชนประมาณ 14 ชุมชน เช่น ชุมชนโรงสี คาลเท็กซ์ ปากคลองช่องนนทรี บัวหลวง เศตะพราหมณ์ คลองด่าน ฯลฯ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ดูแล และที่ดินวัดหรือกรมการศาสนา“ชุมชนที่เช่าที่ดินเอกชน มีแนวโน้มว่าเจ้าของที่ดินจะไม่ต่อสัญญาเช่า อาจถูกไล่ที่ เพราะที่ดินในเมืองมีราคาแพง ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนกัน ลำพังคนจนคงซื้อที่ดินในเมืองไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ไปอยู่นอกเมืองก็จะลำบาก เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่ในเมือง ถ้าไปอยู่นอกเมืองไม่รู้จะเอาอะไรกิน แต่ถ้ามีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน เอาที่ดินที่ไม่ได้ใช้มาให้ชุมชนเช่าสร้างบ้าน เหมือนอย่างกรมธนารักษ์ และมี กทม. มีสำนักงานเขต มีพอช.มาสนับสนุน นำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งเมือง คนจนก็จะอยู่ในเมืองได้” นางสำลีบอกทิ้งท้าย
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)