องคมนตรีติดตามการบริหารจัดการน้ำ ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ   

องคมนตรีติดตามการบริหารจัดการน้ำ ณ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดสมุทรปราการ 

            วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการฯ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพระประแดง  จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  และการบริหารจัดการน้ำของโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ, โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยฯ จังหวัดสมุทรสาคร และโครงการระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิฯ จังหวัดสมุทรปราการ (สถานีสูบน้ำข้ามถนนสุขุมวิท) จากนั้นองคมนตรี และคณะฯ เยี่ยมชมสภาพทั่วไปของโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ
โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 “ให้พิจารณาวางโครงการ และดำเนินการปรับปรุง ขุดลอกพร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 มีพระราชดำริ “ให้พิจารณาใช้คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตร ก็ออกทะเลหากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา” และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา เสด็จฯ ทางชลมารค ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ
ด้านการบริหารจัดการน้ำของโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาลงอ่าวไทยในช่วงน้ำหลากโดยร่นระยะทางจาก 18 กิโลเมตร ใช้เวลา 5 ชั่วโมง เหลือ 600 เมตร ใช้เวลา 10 นาที โดยมีประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ทำหน้าที่ระบายน้ำได้ประมาณวันละ 17 ชั่วโมง ปริมาณน้ำ 26 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมาถึงจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำผ่านประตูระบายน้ำเข้าไปที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และยังช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง อีกด้วย 



นอกจากนี้ในปี 2550 กรมชลประทาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และในปี 2551 จึงเริ่มทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ ต่อมาในปี 2553  สำนักงาน กปร. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธยในปี ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจนล์ ในปี 2554 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานนามสิทธิบัตรดังกล่าวว่า “อุทกพลวัต” มีความหมาย คือ อุทก (น้ำ) + พลวัต (เคลื่อนที่,เคลื่อนไปด้วยแรง) = กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล  ต่อจากนั้นองคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังวัดคันลัด ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ฯ มีพระครูสุภัทรกิจาทร เป็นเจ้าอาวาส วัดคันลัดสร้างขึ้นราวในปี 2349 เมื่อครั้งชาวรามัญได้อพยพจากเมืองประทุมธานีและนนทบุรี พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม (ทอมา คชเสนี) ผู้เป็นเจ้าเมืองได้นำชาวรามัญมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ โดยมีผู้มาอยู่ที่ตำบลทรงคนอง และเลือกวัดคันลัดที่มีอยู่เดิมแล้ว เป็นวัดประจำหมู่บ้าน แล้วก็นิมนต์เอาพระชาวรามัญมาปกครองวัด เดิมวัดเป็นที่ฝังช้างหลวงเรียกว่า สุสานช้างหลวง มีการขุดพบกระดูกช้างเป็นจำนวนมากในวัดแห่งนี้ ซึ่งวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2513 ได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2518

จังหวัดสมุทรปราการ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 6 โครงการ, โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 2 โครงการ, โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข 7 โครงการ, โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร 2 โครงการ, โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา 2 โครงการ และโครงการพัฒนาด้านบูรณาการ/อื่น ๆ 1 โครงการ

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.