พม. โดยกรมเด็ก ฯ เผยมติ กดยช. ครั้งที่ 2/2565 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี  ออกมาตรการควบคุมและห้ามมิให้เด็ก ซื้อ ขาย แจก ครอบครอง ใช้กัญชา  

พม. โดยกรมเด็ก ฯ เผยมติ กดยช. ครั้งที่ 2/2565 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 
ออกมาตรการควบคุมและห้ามมิให้เด็ก ซื้อ ขาย แจก ครอบครอง ใช้กัญชา 
และรับทราบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน

รวมทั้งแนวทางและหลักสูตร ในการดูแลเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า

    วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 2/2565 ในรูปแบบ Online และ On Site โดยมี นายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ และนางเตือนคงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการ เข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุม สป.1 ชั้น 8 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งที่ประชุมมีมติที่สำคัญ ดังนี้

1. รายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563 และประจำปี 2564 พบว่า ในปี 2562 - 2564 ประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยพบข้อมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด สำหรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน คือ สถานการณ์ Covid-19 และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กแรกเกิด - 12 ปี 
พบปัญหาน้ำหนักของทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้า เด็กจมน้ำเสียชีวิต กลุ่มเด็กวัย 13 ปี ขึ้นไป พบปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวและโรงเรียนจากการแสดงออกทางการเมือง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้สื่อออนไลน์ และการว่างงานหลังเรียนจบ ในส่วนของการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน พบปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินงาน 3 ประการ คือ 1) ระบบและระเบียบของทางราชการ 

2) การดำเนินงานไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และ 3) งบประมาณในการดำเนินกิจกรรม จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานในพื้นที่ต้องชี้แจงระเบียบให้กับสภาเด็กและเยาวชนทราบ ทบทวนและติดตามปัญหาและข้อจำกัดในการดำเนินงานให้เหมาะสม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563 และประจำปี 2564 โดยให้ปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ก่อนนำเสนอรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อ ครม. เพื่อทราบ
2. สมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “กัญชาเสรี : ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน พลิกวิกฤต หรือ เพิ่มปัญหา” ผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 13 - 22 กันยายน 2565 โดยที่ประชุมสมัชชาฯ ได้เห็นชอบและมีมติสมัชชาฯ ประจำปี 2565 จำนวน 7 ข้อ และคณะอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบร่วมกัน “เสนอให้ กดยช. เห็นชอบและพิจารณาการเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกมาตรการโดยเร่งด่วน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้เป็นกาลเฉพาะ เพื่อควบคุมและห้ามมิให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อ ขาย แจก ครอบครอง และใช้กัญชา” และ “ให้สื่อมวลชนทุกแขนงเผยแพร่มาตรการควบคุมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบนี้ ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางโดยเร็ว” ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ ดังนี้ 1) รับทราบมติสมัชชาฯ ประจำปี 2565 จำนวน 7 ข้อ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม 2) ให้กระทรวง พม. พิจารณานำเสนอข้อเรียกร้องของคณะอนุกรรมการฯ ต่อ ครม. เพื่อเพิ่มมาตรการควบคุมและห้ามมิให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อ ขาย แจก ครอบครอง และใช้กัญชา 
โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3) เห็นชอบให้กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมมือกับ กสทช. และสื่อมวลชนทุกสาขา
เร่งเผยแพร่มาตรการควบคุมตามที่ ครม. มีมติ

3. แนวทางในการดูแลเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า พบว่า ผลการคัดกรองจากการดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบเด็กไทยประสบปัญหาพัฒนาการด้านภาษาล่าช้ามากที่สุด กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำ “แนวทางในการดูแลเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการดูแลเด็กและเผยแพร่เป็นความรู้ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุข มีแผนบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข และผลักดันการบรรจุสาระการเรียนการสอนคู่มือ DSPM & DAIM ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต 
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ ให้ฝ่ายเลขานุการ ประสานกรมอนามัย และ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ จัดทำแนวทางและหลักสูตรในการดูแลเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และนำเสนอ ครม. เพื่อทราบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบประเด็นสำคัญ จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 2) การศึกษาแบบปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานรองรับเด็กเอกชน 3) ร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4) ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 5) ผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อเสนอจากสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2563 6) แนวทางการสนับสนุนการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
.....................................................................