เปิดเวทีเสวนา “พระธาตุดงยางซอง” มุ่งพัฒนาเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ เอาหรือไม่ ?
วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เวลา 8.00 น. นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มอบหมายให้นายสุชัมบดี ขาวขำ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาให้ความรู้”แนวทางการพัฒนาพระธาตุดงยางซอง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี” ณ วัดอัมพวัน บ้านม่วง ตำบลหนองหาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยนางสุกรรณิกาย์ นิสสะ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี อำเภอหนองหาน เขต 2 นางสาวรัชนีวรรณ เจริญชัย ผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยวและกีฬา นางจริญญาภรณ์ คำอาจ หัวหน้าฝ่ายการท่องเที่ยว ผศ.นวรัตน์ บุญภิละ รองอำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผศ.หัสดิน แก้ววิชิต รองอำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผศ.ดร.ไกรกฤษ์ ศิลาคม ประธานหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร.ต.ยุทธชัย โคสาดี อาจารย์สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายดุสิต ทุมมากรณ์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8ขอนแก่น นายธนกร วิศิษฏ์การ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหาน นัฐไกร นากลาง กำนันตำบลหนองหาน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่กว่า 100 คน เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้
โครงการเสวนาให้ความรู้เรื่อง ”แนวทางการพัฒนาพระธาตุดงยางซอง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชุมชน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชากรในชุมชนที่มีความสัมพันธ์กับแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ”พระธาตุดงยางซอง” ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมให้โบราณสถานแห่งนี้ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและพัฒนาพระธาตุดงยางซองให้เป็นโบราณสถาน เป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับคนในท้องถิ่นได้เคารพสักการะ โดยทุกคนมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนไปพร้อมกัน
นายสุชัมบดี ขาวขำ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าการเสวนาในครั้งนี้เป็นการผนึกประสานความพร้อมเพรียงกันของบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) โดยมีภาครัฐและองค์กรการศึกษาเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์และแนวทางการพัฒนาพระธาตุดงยางซองร่วมกัน ท่านวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาพระธาตุดงยางซองรวมถึงให้ความรู้ในครั้งนี้ เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมทางจิตใจและให้ประชาชนในพื้นที่ได้เกิดความภูมิใจในโบราณสถานพระธาตุดงยางซอง อีกทั้งประชาชนจะได้ตระหนักเกิดความหวงแหนในมรดกทางประวัติศาสตร์ และมีความรักและสามัคคีกันในชุมชน แต่ทุกอย่างนั้นต้องเป็นไปตามมติของประชาชนในพื้นที่และต้องเป็นไปตามระบบขั้นตอนที่ไม่ขัดกับกฎหมาย โดยได้เสนอ 2 แนวทางคือ 1.รื้อถอนศาลาการเปรียญ เพื่อให้ทางกรมศิลปากรเข้าสำรวจและประเมินเพื่อที่จะได้พัฒนาและออกแบบนำเสนอพระธาตุดงยางซอง 2.ไม่ต้องรื้อถอนศาลาการเปรียญแต่จะทำเป็นสถานที่จำลองพระธาตุดงยางซอง สุดท้ายแนวทางจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นอยู่ที่มติของประชาชนในพื้นที่ สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี พร้อมรับฟังและสนับสนุนตามความเหมาะสมต่อไป
ผศ.นวรัตน์ บุญภิละ รองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่าการเสวนาในครั้งนี้เป็นการมุ่งพัฒนาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานี ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตลอดจนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมโบราณสถาน”พระธาตุดงยางซอง”ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
หลังจากการเสวนาได้มีการสอบถามความพร้อมและความเข้าใจเบื้องต้น ถึงประวัติความเป็นมาของ”พระธาตุดงยางซอง” แนวทางการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหาน หน่วยงานราชการที่สนับสนุนให้ความรู้และความเข้าใจจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กรมศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ซึ่งหลังจากได้รับฟังเบื้องต้นประชาชนได้สอบถามถึงการเข้ามาพัฒนาว่า หลังจากขุดค้นโบราณคดีแล้ว วัตถุโบราณทุกชิ้นยังจะคงอยู่ที่วัดพระธาตุดงยางซองหรือไม่ และถ้าอยู่จะมีการดูแลรักษาอย่างไร ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีได้เปิดเผยว่าถ้ามีการพัฒนา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีพร้อมสนับสนุนงบประมาณการสำรวจ การก่อสร้างและศูนย์การเรียนรู้โบราณคดี เพื่อให้เป็นจุดเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สืบต่อไป หลังจากให้ความรู้เรียบร้อยแล้วจะมีการขอมติการประชาคมในการพัฒนาพระธาตุดงยางซอง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติต่อไป
-----------------------------------------------