พิธีทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระสถานีกาชาดที่ 9 อุดรธานี
วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เวลา 07.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระสถานีกาชาดที่ 9 อุดรธานี ณ สถานีกาชาดที่ 9 อุดรธานี ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี โดยมี พระราชภาวนาวชิรากร (อินทร์ถวาย สันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมี พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ นางนงรัตน์ คงเกษม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดอุดรธานี นายสามารถ สุวรรณมณี นายอำเภอเมืองอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดอุดรธานี และประชาชนเข้าร่วม
สถานีกาชาดที่ 9 อุดรธานี เคยเปิดดำเนินการที่จังหวัดอุดรธานี มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2473 เดิมชื่อ สถานีอนามัยที่ 9 ก่อสร้างอยู่ในที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทั่วไปที่ 7147 สร้างด้วยทุนเรี่ยไรจากข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อบริการประชานามัยพิทักษ์ โดยดูแลด้านสุขภาพอนามัยให้กับประชาชนในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง โดยในปี พ.ศ. 2504 จังหวัดอุดรธานี ได้ขอคืนพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อดัดแปลงแก้ไขใช้เป็นที่ทำการอนามัยจังหวัดและศูนย์พัฒนาการจังหวัด และวันที่ 30 เมษายน 2517 คณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาขาดไทย มีมติที่ประชุม ให้ยุบสถานีกาชาดที่ 9 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงมีพระราชประสงค์ให้สภากาชาดไทยฟื้นฟูสถานีกาชาดที่ 9 อุดรธานี ขึ้นมาใหม่ เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นศูนย์ปฏิบัติการภัยพิบัติในการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และจังหวัดชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จึงได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีกาชาดที่ 9 อุดรธานีขึ้น เพื่อรองรับและอำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยเหลือด้านภัยพิบัติของสภากาชาดไทยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่ประชาชนและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม นอกเหนือจากนี้ในอนาคตยังสามารถให้บริการเชื่อมต่อและสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม