พม. จับมือ ม.สวนดุสิต หนุน Soft Power ไทย ร่วมพัฒนาวิชาการ หลักสูตรอาชีพ และผลิตภัณฑ์ให้สตรีและครอบครัว    


วันนี้ ( 28 ก.ย. 65) เวลา 10.30 น. นายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่อง การพัฒนาวิชาการ หลักสูตรอาชีพ และผลิตภัณฑ์ให้กับสตรีและครอบครัว ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และดร.สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ทั้งนี้ นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คณะผู้บริหารกระทรวง พม. รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมรักตะกนิษฐมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรุงเทพฯ 


นายจุติ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจเรื่อง การพัฒนาวิชาการ หลักสูตรอาชีพ และผลิตภัณฑ์ให้กับสตรีและครอบครัว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาวิชาการหลักสูตรอาชีพและผลิตภัณฑ์ให้กับสตรีและครอบครัวเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ได้แก่ สตรีและครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา และผู้ได้รับผลกระทบจากการค้าประเวณี รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการเพิ่มทักษะอาชีพ โดยกระทรวง พม. ให้ความร่วมมือในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดหลักสูตรการฝึกอาชีพใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและตลาด เพื่อสร้างอาชีพ ส่งเสริมการมีงานทำ มีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเรื่องการส่งเสริมหรือร่วมดำเนินการฝึกอบรม และพัฒนาทักษะอาชีพในสาขาที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานให้แก่กลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลักสูตรผู้ช่วยส่วนตัว (Butler)  เชฟ (Chef) ขนมอบ (Bakery)  ขนมไทย การดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) เป็นต้น รวมทั้งเรื่องการส่งเสริมหรือร่วมจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการและตลาด เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ด้วยการส่งเสริมและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพใหม่ๆ เพื่อรายได้ที่มั่นคงให้สามารถพึ่งพาตนเองและเลี้ยงดูครอบครัวได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายรัฐบาล 


นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสร้างโอกาสและสร้างมืออาชีพ บนพื้นฐานของจุดแข็งของความเป็นไทย ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งเน้นจุดขาย Soft Power ของไทย ซึ่งเราจะเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมด้านอาหาร และคุณภาพของมนุษย์ เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นับเป็นการเติมเต็มโอกาสให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการมีอาชีพใหม่ รวมทั้งกลุ่มพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งนี้ ขอให้ผู้ฝึกอาชีพตระหนักถึงการทำงานที่ไม่ใช่แค่การทำงานเท่านั้น หากยังต้องขายความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย และอาหารไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้ ฉะนั้น คนทำงานจะต้องเป็นมืออาชีพที่ทำงานด้วยความรัก ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งประเทศและตัวเองด้วย สำหรับโครงการนี้ดำเนินการมาหลายเดือนและจะเป็นพื้นฐานของการสร้างอาชีพใหม่ๆ ได้แก่ อาชีพเชฟ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ผู้ช่วยส่วนตัว (Butler) การจัดการบริการการท่องเที่ยวและอีเวนต์ (Event) เพื่อรองรับโลกที่กำลังเปิดและมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งประเทศไทยจะชนะด้วยทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและวัฒนธรรมไทย


##############