อบจ.อุดรธานี ฝึกอบรม “ปลูกไผ่ มีไม้ ได้อาหาร” สร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยชาว อ.น้ำโสม ก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19
อบจ.อุดรธานี ฝึกอบรม “ปลูกไผ่ มีไม้ ได้อาหาร” สร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยชาว อ.น้ำโสม ก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 08.30 น. นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี มอบหมายให้นายสง่า ภักดี ที่ปรึกษานายก อบจ.อุดรธานี ร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมี นายรัฐธรรมนุญ พลชารี ปลัดอาวุโส อ.น้ำโสม รักษาการแทน นอภ.น้ำโสม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดโครงการฯ มี นายอัมพร นนทพันธ์ ส.อบจ.อุดรธานี อ.น้ำโสม นายสมาน ชนะแก้ว ผอ.รร.น้ำซึมพิทยาคม ว่าที่ ร.อ.วิทยา เครือทอง รอง ผอ.รร.น้ำซึมพิทยาคม นายธวัช เพชรไพโรจน์ เกษตร อ.น้ำโสม นายยุทธภูมิ ปริวันตา ปศุสัตว์ อ.น้ำโสม พันตรีปรีชา เกษมสินธ์ สัสดี อ.น้ำโสม น.ส.วาสนา อังวะ พัฒนาการ อ.น้ำโสม นายบัวลองวงศ์วิชิต นายก อบต.หนองแวง นางอัฉราพร บำรุงสุข ประธานกลุ่มสตรี อ.น้ำโสม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน จำนวน 300 คน ในพื้นที่ อ.น้ำโสม ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมโครงการฯ ณ หอประชุม ร.ร.น้ำซึมพิทยาคม อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี
โครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ประจำปีงบประมาณ 2565 "ปลูกไผ่ มีไม้ ได้อาหาร" เป็นโครงการที่ นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี ศึกษาแนวทางและหารือกับคณะทำงานหลายฝ่าย ตลอดจนผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ใน อ.บ้านผือ อ.กุมภวาปี อ.กู่แก้ว อ.เพ็ญ อ.กุดจับ อ.ไชยวาน อ.นายูง และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวอุดรธานี ที่ได้รับความเดือดร้อนในสถานการณ์โควิด 19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลกที่กำลังถดถอย จึงต้องอาศัยภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคมไทย ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม อย่างพอเพียงและยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากเกษตรจังหวัดอุดรธานี และนายวิวิช พวงสวัสดิ์ พร้อมคณะฯ ผู้มีประสบการณ์และความชำนาญด้านการปลูกไผ่ ดูแลไผ่ ประโยชน์ของไผ่ การตลาด และการขยายพันธุ์ไผ่โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ไผ่ตงลืมแล้ง หรือไผ่หวานลืมแล้ง (กิมซุง) เป็นไผ่หวานเศรษฐกิจ เป็นไผ่หวานพันธุ์หนึ่งที่ปลูกง่าย เติบโตเร็ว ให้หน่อ เพื่อเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี ให้ไม้ทำผลิตภัณฑ์จักสาน เก้าอี้ เตียง ฯลฯ ไม่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน มีหลายโรงเรียนในประเทศไทยนำมาปลูกเพื่อเป็นร่มเงาให้กับนักเรียนในช่วงพักเที่ยง รวมทั้งเหมาะแก่การพักผ่อนอ่านหนังสือใต้ร่มเงาไผ่ แถมเป็นกำแพงกำบังลมพายุได้เป็นอย่างดี
-----------------------------------------------