รมว.พม. เผยผลการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ  พร้อมร่วมกันเสริมพลังสตรีพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน  

 
 

 

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ นายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (APEC Women and the Economy Forum) การประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรีและเศรษฐกิจ (High Level Policy Dialogue on Women and the Economy : HLPDWE) ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีจากกระทรวงด้านสตรีและเศรษฐกิจจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีผลลัพธ์การประชุม 6 ข้อ ดังนี้ 
1. ปาฐกถาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย ผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นอย่างมาก โดยกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางและสตรีผู้ที่ต้องรับภาระในการทำงานในครัวเรือนที่ไม่มีค่าจ้าง ทั้งนี้ จึงควรมีนโยบายเป็นพิเศษให้กับกลุ่มนี้ 
2. ผลจากการอภิปรายเชิงนโยบายระดับสูง  รัฐมนตรี  และหัวหน้าคณะเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับความเสมอภาคระหว่างเพศและการส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรีผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio - Circular - Green Economy อาทิ การประกาศใช้นโยบายและการมีข้อริเริ่มที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลและอาชีพ การเข้าถึงการศึกษาด้าน STEM และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับนักธุรกิจสตรีและผู้ประกอบการสตรี
3. ผลจากการบรรยายสรุปโดยผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปค ที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าและการปรับใช้แนวทางต่าง ๆ ที่ส่งเสริมความครอบคลุมทางเศรษฐกิจของสตรี และการส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมี Dashboard เป็นกลไกสำคัญในการติดตามความคืบหน้าต่าง ๆ รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของสตรีในระดับผู้นำที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความก้าวหน้าสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ 
4. ผลจากการรายงานของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค หรือ ABAC ทำให้เห็นถึงแนวคิดหลักของ ABAC ที่มุ่งเน้นการเชื่อมต่อโลกกับโอกาส การร่วมมือกันสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ และสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งสตรีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ อย่างในสถานการณ์สตรีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด - 19 และการจะส่งเสริมบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องเสริมความเข้มแข็งให้กับการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคแรงงาน อาทิ การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาดแก่ผู้ประกอบการสตรี การส่งเสริมการเข้าถึงตำแหน่งระดับสูงของสตรีในทุกระดับ การเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านการฝึกอบรมและการศึกษา และการสนับสนุนด้านนโยบายที่อิงหลักฐาน เช่น การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจำแนกเพศ เป็นต้น
5. ผลจากการบรรยายสรุปของประธาน PPWE หรือหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ (Policy Partnership on Women and the Economy) นอกจากจะกล่าวถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 แล้ว ที่ประชุมยังรับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลา เซเรนา เพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ค.ศ. 2019 – 2030 (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth)  แผนปฏิบัติการ “เอาทีอารอ” (Aotearoa Plan of Action) และวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) รวมถึง APEC Dashboard เพื่อช่วยให้สตรีเข้าถึงแหล่งเงินทุน สตรีในระดับผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
6. การร่วมแสดงความยินดีกับผู้ชนะการประกวดรางวัลการวิจัยด้านสุขภาพสตรีและเศรษฐกิจ ที่จัดขึ้นโดยเขตเศรษฐกิจชิลี สนับสนุนโดยบริษัท Merk

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้รับฟังความคืบหน้าจากเขตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาสำหรับแผนการประชุมด้านสตรีและเศรษฐกิจ ปี 2566 ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีถัดไป และในช่วงท้ายของการประชุม ตนได้ออกแถลงการณ์ประธานการประชุม โดยสมาชิกจะร่วมกันเสริมพลังสตรีเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG 

######################