บึงกาฬ จัดแข่งเรือยาวไทย-ลาว-เวียดนามครั้งที่ 22 ชิงเจ้าความเร็วแห่งลุ่มน้ำโขง รอง ผวจ.บึงกาฬแถลงความพร้อมจัดแข่งขับเรือยาวประเพณี ไทย-ลาว-เวียตนาม ครั้งที่ 22 ชิงถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะทางยาวที่สุดในประเทศไทยยิ่งใหญ่กว่าทุกปี   

2 ก.ย.)นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รอง ผวจ.บึงกาฬ แถลงข่าวการจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีไทย-ลาว-เวียดนาม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 22 ประจำปี 2565 ที่จะจัดระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2565 ณ บริเวณถนนข้าวเม่าริมโขง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยมีนายสมหวัง อารีย์เอื้อ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดบึงกาฬ นางวาทิณี โฆษาศิวิไลซ์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ และสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมในงาน โดยมี นายไตรภพ รำเพยพล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ นายพุทธาสิทธิ์ จันทร์เต็ม ประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ นายอดุลย์ ดีอ้อม พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ นายธนาพงศ์ แสนสุภา รองนายกเทศมนตรีเมืองบึงกาฬ พ.ต.อ.อารัก มะสาธานัง รอง ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ และนางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานีร่วมแถลงข่าวครั้งนี้

นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีฯ เป็นการส่งเสริมความสามัคคีของคนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวและประเพณีดั้งเดิมในจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายนของทุกปีจะมีปริมาณน้ำโขงสูง มีความสวยงามอย่างมาก ทั้งนี้จะมีกิจกรรมวิ่งประชาสัมพันธ์การจัดงานแข่งเรือยาวประเพณีฯ ครั้งนี้ ในวันที่ 9 กันยายน 2565 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมเผยแพร่การจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีฯ ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับตัวเองด้วย การจัดงานครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการจัดงานแข่งเรือยาวประเพณีฯ ครั้งนี้ มีเอกลักษณ์คือสนามแข่งขันเรือยาวประเพณีที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวประมาณ 1,200 เมตร เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จำนวนกว่า 700,000 บาท ซึ่งไฮไลท์จะเป็นการแข่งขันเรือยาว ขนาดใหญ่ ประเภททั่วไป 50-55 ฝีพาย ที่มีเรือยาวฝีมือดีและเรือดังๆ จากทั่วทุกภาคของประเทศร่วมแข่งขัน อีกทั้งเรือจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม

ในส่วนของเทศบาลเมืองบึงกาฬ มีการเตรียมสถานที่ไม่ว่าจะเป็นสุขาตามร้านอาหาร และวัดบริเวณติดถนนข้าวเม่าริมโขง รวมถึงจุดทิ้งขยะ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ มีรถสุขาเคลื่อนที่ และสนับสนุนการจัดงานในภาพรวม สำหรับพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ มีการคัดสรรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP กลุ่ม SMEs และกลุ่มสินค้า OTOP ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ และ สปป.ลาว มาออกร้านขายสินค้าและบริการกว่า 80 บูธ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 นอกจากนี้ ททท. อุดรธานี ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการจัดงานด้วยกิจกรรมวิ่งในวันที่ 9 กันยายน 2565 และจะมีกิจกรรมสายมูดึงนักท่องเที่ยวเดินสายเที่ยวพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ด้วยกิจกรรมไหว้พญานาค ไหว้พญายักษ์ แล้วจะหลงรักบึงกาฬ โดยภาพรวมการจัดงานจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยช่วยเหลือทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ทั้งนี้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬจะมีการประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านสื่อโทรทัศน์ช่อง NBT 11 ทีวีอีสาน ทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงระดับประเทศ มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อวิทยุ 104.25 MHz และวิทยุชุมชนหอกระจายเสียง รวมถึงผ่านสื่อโซเชียลทั้งภาคสื่อเอกชน และสื่อของรัฐร่วมเสนอข่าวประชาสัมพันธ์งานครั้งนี้กันอย่างคึกคักตลอดงาน.

นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี//บึงกาฬ 0933199399