องคมนตรี ติดตามผลสัมฤทธิ์ ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามผลสัมฤทธิ์ของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ พร้อมกับร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และพบปะเยี่ยมกลุ่มเกษตรกร
สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยราษฎรที่ประกอบอาชีพประมงไม่สามารถออกหาปลาได้เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง จึงพระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 สรุปความว่า ในอนาคตผลผลิตสัตว์ทะเลต่าง ๆ จากฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน ที่ถูกสุขภาวะอนามัยแวดล้อมคืนสมดุลด้วย จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล จึงทรงริเริ่มให้ทำฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานขึ้น พร้อมกับพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ซึ่งนางวาสนา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในพื้นที่นาเกลือริมทะเล จำนวน 82 ไร่ ๒ งาน 50 ตารางวา ณ หมู่ที่ 5 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อจัดทำฟาร์มตัวอย่างให้ทั้งผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ ดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเอง
การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ปี 2552 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณให้แก่ กรมประมง ในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีจุดเรียนรู้และสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 4 จุด ได้แก่จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์สองน้ำหรือน้ำกร่อย ได้แก่ การอนุบาลกุ้งก้ามกราม การเลี้ยงกุ้งขาว การเลี้ยงปลานิลแดง และปลากะพงขาว จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลและสาหร่ายทะเล ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาช่อนทะเล ปลาจะละเม็ดทอง ปลาการ์ตูน หอยเป๋าฮื้อ และหมึกกระดอง เป็นต้น การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน พร้อมทั้งมีการสาธิต การแปรรูปสัตว์น้ำ สาหร่าย หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จุดสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทนเค็มสูงและเกลือทะเล ได้แก่ การเลี้ยงอาร์ทีเมียในบ่อดิน การผลิตเกลือแกงและน้ำทะเลผง และจุดสาธิตการทำฟาร์มทะเล ได้แก่ การสร้างแพเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก การเลี้ยงหอยแมลงภู่ การจัดทำธนาคารปูม้าและปลาหมึก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกับชุมชน ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปูม้า ปลากะพงขาว และหมึกกระดอง รวมทั้งกิจกรรมบริการและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อีกด้วย
ปัจจุบันชาวบ้านไม่ต้องออกเรือไปจับสัตว์น้ำธรรมชาติในทะเลแต่ยังสามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำและเกลือทะเล โดยเฉพาะการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจนเกิดฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในเชิงพาณิชย์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมาถึงทุกวันนี้ ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ จึงเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ ดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการด้านประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ให้ความสนใจเยี่ยมชมกว่า 7,000 คน
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.