พม. ดึงนักวิชาการร่วมเวทีสนทนาทางนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคม แนะเพิ่มการลงทุนพัฒนามนุษย์ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีสนทนาทางนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคม โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม. พร้อมด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ภาวิณ ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธร ปีติดล และ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนานโยบายการคลังท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดร.กนต์ธีร์ นุชสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตามและประเมินผล องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส TDRI และ ดร.นฎา วะสี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมประชุม ณ ห้องออร์คิด 3 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
นายธนสุนทร กล่าวว่า ด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านสังคมของภาครัฐมีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม โดยสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคทางสังคม ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง พม. จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีสนทนาทางนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคม เพื่อนำเสนอการศึกษาทบทวนระบบ การคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย และข้อเสนอเชิงนโยบายในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนระบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กในประเทศไทย” “แรงงานไทยกับการขยายความคุ้มครองทางสังคม” และ “ระบบบำนาญในภาวะสังคมสูงวัย” อีกทั้งระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวง พม. ให้เท่าทันต่อสถานการณ์สังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริหารมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคมมาปรับใช้ให้เหมาะสม และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายตามบทบาทภารกิจของกระทรวง พม. ต่อไป
นายธนสุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมให้มี ความครอบคลุม สำหรับกลุ่มเด็กมุ่งเน้นให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาให้เต็มศักยภาพ กลุ่มผู้สูงอายุมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบูรณาการและการปรับปรุงระบบเดิมที่มีอยู่ให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน และสถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากร และกลุ่มวัยแรงงานมุ่งเน้นให้มีการทบทวนสวัสดิการที่มีอยู่เพื่อความครอบคลุมและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของแรงงานตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ การขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว กระทรวง พม. มองว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ประเทศไทยต้องเพิ่มการลงทุนในการพัฒนามนุษย์ (Human Capital) และพัฒนาระบบฐานข้อมูลระหว่างภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
##############################################################