พม. โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ จับมือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม  


อบรมให้ความรู้ : มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ภายในเรือนจำ ในรูปแบบออนไลน์
    วันนี้ (17 สิงหาคม 2565 ) เวลา 09.00 น.  นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมเป็นประธานการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะความรู้ : มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ  ขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ภายในเรือนจำ ในรูปแบบออนไลน์ 
        นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุในระดับสมบูรณ์และ จะก้าวสู่ระดับสุดยอดในระยะเวลาอันใกล้ จากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 พบว่าจำนวนและสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในอัตรา ที่รวดเร็วทำให้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า ภาวะประชากรผู้สูงอายุ (Population Ageing) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การเข้าสู่สภาวะประชากรผู้สูงอายุจะมีผลต่อสภาพทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่คนเดียว หรืออยู่ลำพังกับคู่สมรสเพิ่มขึ้น และมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการดูแล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของประเทศ  แต่นอกเหนือจากผู้สูงอายุโดยทั่วไปแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์สูงอายุที่เป็นผู้กระทำความผิดที่ถูกคุมขังในเรือนจำหรือทัณฑสถานตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มเปราะบางที่รัฐต้องให้ความใส่ใจและจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม รวมทั้งต้องได้รับความดูแลด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ในการส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพดูแลผู้สูงอายุ โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะความรู้ : มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นกลาง จำนวน 70 ชั่วโมง ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ภายในเรือนจำ จำนวน 24 แห่ง ผู้เข้าอบรมฯ จำนวน 1,075 คน ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ภายในเรือนจำ ในรูปแบบออนไลน์เพื่อดำเนินการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ผู้กระทำผิด เหล่านี้กลับตัวเป็นคนดีและพร้อมที่จะมีโอกาสในการกลับมามีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นใน สังคมได้อย่างปกติสุขเมื่อพ้นโทษออกไป และเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพดูแล  ผู้สูงอายุโดยนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปปรับใช้ในการดูแล ตนเองและผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ