รมว.พม. ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น  ขับเคลื่อนต้นแบบ "กองบุญแห่งการให้" พร้อมจับมือเครือข่ายจัดการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่ออาชีพ (การบริบาล)   

 


วันนี้ (13 ส.ค. 65) เวลา 10.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อขับเคลื่อนต้นแบบ "กองบุญแห่งการให้" โดยเป็นประธานในพิธี "ทอดผ้าป่า" กองบุญแห่งการให้จังหวัดขอนแก่น ด้วยการสนับสนุนจาก 3 องค์กรภาคธุรกิจ CSR ซึ่งมีพระโสภณพัฒนบัณฑิต รศ.ดร.เจ้าอาวาสวัดธาตุ พระอารามหลวง รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เป็นประธานกองบุญฯ อีกทั้งเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) เพื่อการจัดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นเพื่ออาชีพ (การบริบาล) โดยนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมลงนาม  และเป็นประธานในพิธีมอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศนียบัตรอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และอาสาสมัครดีเด่น ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประจำปี 2564 จำนวน 68 คน (20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ณ ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 


นายจุติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนต้นแบบ "กองบุญแห่งการให้" โดยการจัดตั้งกองบุญแห่งการให้จังหวัดขอนแก่น  เป็นส่วนอำนวยการที่เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และผู้โอกาสทางสังคม ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีครัวเรือนเปราะบางจำนวน 108,257 ครัวเรือน โดยเป็นสื่อกลางให้ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์และภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีความศรัทธาและประสงค์ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผ่านกองบุญแห่งการให้ ขณะเดียวกันสามารถขอรับใบอนุโมทนาบัตรเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำตำบลในพื้นที่ ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดขอนแก่นรวมทั้งสิ้น 224 อปท. เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยบูรณาการบริการสวัสดิการสังคมของทุกกรมสังกัดกระทรวง พม. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนรวมทั้ง อพม. ในพื้นที่ ด้วยการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรม 


นายจุติ กล่าวต่อไปว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) เพื่อการจัดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นเพื่อการประกอบอาชีพ (การบริบาล) เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวง พม.  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท แอลเอ เอดดูเคชั่น 1970 (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อการจัดการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นเพื่อการประกอบอาชีพบริบาลสำหรับดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนในสังคมผู้สูงอายุขณะนี้ สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง และเพิ่มโอกาสการทำงานในต่างประเทศ  โดย 1) กระทรวง พม. ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและมีกองทุนช่วยเหลือครอบครัวด้านการสงเคราะห์ (ตามระเบียบ) ให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ  2) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เปิดรับนักเรียนระดับปริญญาตรี  และให้บริการหลักสูตรการเรียนภาษาญี่ปุ่น 3) สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ประชาสัมพันธ์โครงการฯ เตรียมความพร้อมและจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งติดตามและประเมินผล และ 4) บริษัท แอลเอ เอดดูเคชั่น 1970 (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาสำหรับการสอนภาษาญี่ปุ่นในจังหวัดขอนแก่น 


นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศนียบัตรอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และอาสาสมัครดีเด่น ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประจำปี 2564 จำนวน 68 คน (20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ อพม. และอาสาสมัคร ที่เป็นเครือข่ายของกระทรวง พม. ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยจิตอาสา เสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมในหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งเครือข่าย อพม. เป็นการทำงานในระดับพื้นที่ที่จะเป็นพื้นฐานพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไปสู่สังคมแห่งสันติสุขและเอื้ออาทรอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ กระทรวง พม. เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถสมัครเป็น อพม. เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เพื่อกระจายการทำงานในพื้นที่ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงในสัดส่วน อพม. 2 คน รับผิดชอบ 10 ครัวเรือน 


##########