อบจ.อุดร จับมือ ปศุสัตว์ นำร่องปั้นเกษตรกรรากหญ้า อ.ทุ่งฝน สู่ เกษตรกรผู้ร่ำรวย รุ่นแรก “ภายใต้การส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย”
วันที่ 9 มิ.ย.64 เวลา 09.30 น. นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี (ประธานในพิธี) พร้อมด้วยนายพิทักษ์ เหมือนสีเลา ส.อบจ. อุดรธานี อ.ทุ่งฝน เปิดงานโครงการ การฝึกอบรมเกษตรกร หลักสูตร “ขบวนการกลุ่มและการจัดการเลี้ยงดูควาย” ภายใต้การส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ประจำปี 2564 โดยมี นายพนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี กล่าวรายงานความสำคัญและวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า 1.เพื่อให้เกษตรที่เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง กลุ่มการบริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน การจัดการเลี้ยงดูควายที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 2.เพื่อให้เกษตรกรเกิดการพัฒนาการเลี้ยงควายในพื้นที่ จ.อุดรธานี สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงควายได้อย่างยั่งยืน 3.เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เลี้ยงควาย ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การกำหนดรูปแบบและทิศทางในการพัฒนาการผลิตและการตลาดควายไทย ซึ่งโครงการฝึกอบรมเกษตรกรหลักสูตร “ขบวนการกลุ่มและการจัดการเลี้ยงดูควาย” รุ่นที่ 1 นี้ ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 มิ.ย.64 ณ ศาลาประชาคมบ้านคำตานา หมู่ที่ 6 ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี มีเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 50 ราย โดยได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี
สำหรับการอบรมตามโครงการฯ ในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก นายกำธร วิเชฏฐพงศ์ นอภ.ทุ่งฝน นางขนิษฐา โกวิทยากร เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้นำท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานโครงการฯ
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ อุดรธานี กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี ทำให้การเกษตรเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน จากที่เคยใช้ควายช่วยทำไร่ไถนา ก็หันมาใช้เครื่องจักรกลแทน เพิ่มภาระให้เกษตรกรต้องดูแลรักษา และนอกจากนี้ ชาวนาส่วนใหญ่เลิกเลี้ยง ขายทิ้งเข้าโรงฆ่าสัตว์ ทาง อบจ.อุดรธานี ก็กังวลว่าวิถีพื้นบ้านของคนอีสานจะหมดไป ควายจะหมดความสำคัญและไร้ค่า ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง เมื่อตระหนักถึงเหตุผลดังกล่าวมาเบื้องต้นอีกทั้งมองภาพรวมระยะยาวในแง่เศรษฐกิจ ในแง่การเลี้ยงความเป็นอาชีพ เลี้ยงควายเพื่อขายน้ำเชื้อ ซึ่งตนเองได้พูดคุยกับนายทศพร ศรีศักดิ์ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย บ่อยครั้งทำให้ทราบว่า ควายไทยมีราคา หลายแสนถึงหลัก 10 ล้าน 20 ล้าน เฉพาะขายน้ำเชื้อก็สร้างมูลค่ามากมายมหาศาล ถ้าหากเลี้ยงอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้เกษตรกรชาวรากหญ้าของเราเปลี่ยนเป็นเศรษฐีได้เช่นกัน ด้วยความหวังตั้งใจที่จะเห็นคนเลี้ยงควายที่ยากจนกลายเป็นมีกินมีใช้ เป็นเศรษฐีใหม่ในอาชีพดั้งเดิม คือเลี้ยงควาย จึงพร้อมสนับสนุนส่งเสริมอนุรักษ์พัฒนาควายไทย โดยบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และสำนักทางปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี ให้ความรู้ ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และส่งเสริมการเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งมีโครงการที่จะรองรับการต่อยอดผลผลิตคือ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ณ ทุ่งโป่งวัว ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี ในปีนี้ได้สนับสนุนงบไปแล้วกว่า 20 ล้านบาท โดยพร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนคนอีสาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับควายและยังจัดกิจกรรมต่างๆที่จะให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมควายอย่างใกล้ชิดรวมถึงได้ชมควายสายพันธุ์ที่หายาก แบบครบวงจร พร้อมให้เกษตรกรหันมาสร้างรายได้จากอาชีพเลี้ยงควายอย่างร่ำรวย มั่งคัง ยังยืน เพื่อกระตุ้นเศษฐกิจและอนุรักษ์ควายไทยให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองและประเทศชาติตลอดไป
-----------------------------------------------