พม. เผยสหรัฐฯ ยกระดับไทยดีขึ้น เป็น Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 2565 พร้อมมอบรางวัล “TIP Report Hero” ให้ “นางอภิญญา ทาจิตต์” หญิงไทยอุทิศตนเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
วันนี้ (20 ก.ค. 65) เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด.พม.) ในฐานะเลขานุการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 หรือ TIP Report (Trafficking in Persons Report 2022) โดยยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) เป็น Tier 2 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ได้แบ่งระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์เป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1) เทียร์ 1 (Tier 1) คือประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายในการป้องกันและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วน 2) เทียร์ 2 (Tier 2) คือประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ 3) เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) คือประเทศที่ดำเนินการ ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว แต่พยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ และ 4) เทียร์ 3 (Tier 3) คือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐ และไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
นางพัชรี กล่าวว่า รายงาน TIP Report ประจำปี 2565 ในส่วนของประเทศไทย สหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า สหรัฐอเมริกาพิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ยังมีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการ และมีความพยายามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการรายงาน ปี 2564 และเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เช่น การสืบสวนคดีค้ามนุษย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น การพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) และระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) การจัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ตามมาตรา 6/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การริเริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 17 คน และถูกตัดสินจำคุก 2 คน การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แห่งใหม่ การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ไปยังทีมสหวิชาชีพ และการระบุตัวผู้เสียหายได้จำนวนปี 2564 เป็นต้น
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า รายงานดังกล่าวได้ระบุข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย จำนวน 14 ข้อ ซึ่งคล้ายคลึงกับปีที่ผ่าน เช่น การเสนอให้ไทยเพิ่มการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีการค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงานสืบสวนและดำเนินคดีเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และลงโทษผู้กระทำผิดด้วยบทลงโทษที่เหมาะสมเพิ่มความสามารถให้แก่ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นผู้ใหญ่ในการเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้โดยอิสระ และทบทวนระยะเวลาการอยู่ในสถานคุ้มครองเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่อยู่ในสถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น การบังคับให้มีการจ่ายค่าจ้างอย่างสม่ำเสมอ มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าธรรมเนียมจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว และให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการถือครองเอกสารประจำตัว และเอกสารทางการเงิน และสัญญาจ้างของตนเอง เป็นต้น
นางพัชรี กล่าวต่อไปอีกว่า ทั้งนี้ ผลการจัดระดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในปี 2565 ที่ถูกยกระดับประเทศไทยจาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) เป็น Tier 2 เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จนทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยกระทรวง พม. จะได้ประชุมหารือเพื่อพิจารณาผลการจัดระดับ และนำข้อเสนอแนะสำคัญในรายงาน TIP Report ประจำปี 2565 มาพิจารณากำหนดแนวทางและแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพในระยะต่อไป
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ สหรัฐอเมริกาได้มอบรางวัล “TIP Report Heroes” หรือ นักสู้ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2022 ให้บุคคลที่มีผลงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยได้ยกย่องการอุทิศตนเพื่อต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ จำนวน 6 คน จาก 6 ประเทศ มีหญิงไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris) ซึ่งเป็นองค์กร NGO ในประเทศไทยที่ให้บริการและช่วยเหลือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง โดยนางอภิญญา ได้อุทิศตนเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี และทำงานอย่างอุตสาหะเพื่อช่วยเหลือแรงงานจำนวนมากที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงจากหลากหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และบังกลาเทศ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเด็ก โดยได้เดินทางไปยังโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อสอนให้ความรู้แก่เด็กมากกว่า 10,000 คนต่อปี