นายกอบจ. ลูกชาวนาจัดหาพันธุ์ปลาให้ประชาชน เพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำสาธารณะทั่วทั้งจังหวัด
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี นำคณะที่ปรึกษา รองนายก ปลัด และ ส.อบจ.ลงพื้นที่เปิดโครงการจัดหาพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรในแหล่งน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2565 ประเดิม แหล่งน้ำสาธารณะ 3 แหล่งใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอบ้านผือ อำเภอเมือง และอำเภอเพ็ญ
วันที่ 19 ก.ค. 2565 เวลา 07.00 น. นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี จัดโครงการจัดหาพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรในแหล่งน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2565 ร่วมกับทางประมงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งโครงการในครั้งนี้เพื่อนำพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยให้พี่น้องประชาชนไว้เป็นแหล่งอาหารสร้างโปรตีนที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และได้ส่งมอบพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 10 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ “ปลาบึก”หรือที่ได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งแม่น้ำโขง” ปลาบึก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pangasianodon gigas) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนัก 150–200 กิโลกรัม ใน 5 ปี ปลาที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้เป็นตัวเมีย (บางรายงานระบุผิดว่าเป็นตัวผู้) ยาว 2.7 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (646 ปอนด์) ซึ่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตั้งแต่ประเทศจีน, ลาว, พม่า, ไทย เรื่อยมาตลอดความยาวของแม่น้ำรวมไปถึงแควสาขาต่าง ๆ เช่น แม่น้ำงึม, แม่น้ำมูล, แม่น้ำสงคราม แต่ไม่พบในตอนปลายของแม่น้ำโขงที่เป็นน้ำกร่อย ซึ่งเป็นจุดที่ไหลออกทะเลจีนใต้ เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการจับปลามากเกินไป คุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบันสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติจัดปลาบึกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (critically endangered) และติดอยู่ในบัญชี ไซเตส กลุ่ม 1 ชนิดสัตว์ป่าและซากของสัตว์ป่าท้ายบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส)
อบจ.อุดรธานีและประมงจังหวัดอุดรธานี จึงนำมาปล่อยในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ทั้ง 20 อำเภออย่างทั่วถึง ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมปล่อยพันธ์สัตว์น้ำสาธารณะ จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย อ.บ้านผือ อ.เมือง และอ.เพ็ญ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดย นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี มอบหมายให้ คณะผู้บริหารฯ ส.อบจ.อุดรธานี ในแต่ละเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ อบจ.อุดรธานี ร่วมกิจกรรม ดังต่อไปนี้
จุดที่ 1 นายสุชัมบดี ขาวขำ รองนายก อบจ.อุดรธานี เป็นประธานฯ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 10 ชนิด พร้อมด้วย ร.ต.สมควร บุญประคม รองประธานสภา อบจ.อุดรธานี นางอรวรรณ เชื้อกลางใหญ่ ส.อบจ.อุดรธานี อ.บ้านผือ เขต 1 นายดนัย ขาวขำ ส.อบจ.อุดรธานี อ.บ้านผือ เขต 2 นายเข็มทอง ใจหาญ ส.อบจ.อุดรธานี อ.นายูง นายสาคร ชาติชำนิ หน.สำนักปลัด อบจ.อุดรธานี น.ส.สาวิตรี วงศ์สุวรรณ ประมง อ.บ้านผือ ณ ลำห้วยไร่ บ.หนองหัวคู ต.หนองหัวคู อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น คณะกรรมการแหล่งน้ำฯ เข้าร่วม
จุดที่ 2 นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายวัชรพล ขาวขำ ที่ปรึกษาพิเศษ นายก อบจ.อุดรธานี นายประเทือง เพชรโรจน์ ปลัด อบจ.อุดรธานี นายยิ่งใหญ่ กองทอง ส.อบจ.อุดรธานี อ.เมือง เขต 9 นางนฤมล โคตรสาขา ส.อบจ.อุดรธานี อ.เมือง เขต 11 นายอำพล จินดาวงศ์ ประมง จ.อุดรธานี ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น และ คณะกรรมการแหล่งน้ำ ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 10 ชนิด ณ ห้วยหลักหลี่ บ.นาคำหลวง ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี
จุดที่ 3 นายสมัคร บุญปก รองนายก อบจ.อุดรธานี เป็นประธานฯ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 10 ชนิด ณ อ่างห้วยวังตุ บ.สร้างคำ ต.เชียงหวาง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ประมง อ. ผู้นำท้องที่ผู้นำท้องถิ่น และ คณะกรรมการแหล่งน้ำ ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ
นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารสร้างโปรตีนในชุมชนแล้ว ยังเป็นการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ให้ประชาชนมีความรู้เรื่องชนิดของพันธุ์สัตว์น้ำ อาทิ กุ้งก้ามกราม ปลาสร้อยขาว ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลานวลจันทร์ ปลากดเหลือง ปลาสวาย ปลากะโห้ และปลาบึก รวมถึงวิธีการเลี้ยงดู เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน และส่งเสริมเป็นอาชีพก่อเกิดเป็นรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
.........................................................