พม. พร้อมช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศอย่างเต็มที่ เปิดหลายช่องทางบริการตลอด 24 ชม.  

 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.00 น.  นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการก่อเหตุดังกล่าวสร้างความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกายของผู้เสียหาย นับเป็นหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของกระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (รมว.พม.) ได้ให้นโยบายมาโดยตลอดในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลของบุคคลใด  และต้องดูแลผู้เสียหายทั้งทางกฎหมายและจิตวิทยาอย่างเต็มที่ โดยให้โอกาสทางกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment เป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น 1) การแสดงออกทางวาจา ด้วยการพูดจาล่วงเกิน และการพูด เล่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ รวมถึงสัดส่วนของร่างกาย  2) กิริยาท่าทาง ด้วยการแทะโลมทางสายตา การจ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกาย  3) การสัมผัสทางร่างกาย ด้วยความพยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น แตะเนื้อต้องตัว โอบกอดร่างกายส่วนต่างๆ  และ 4) การส่งข้อความในเชิงอนาจาร  ด้วยการพิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ รวมไปถึงการส่งรูปภาพร่างกายหรืออวัยวะเพศให้แก่ผู้อื่น

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอย้ำว่า กระทรวง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศ อย่างเต็มที่ โดยเราจะรักษาความลับของท่านทุกคน และขอให้ทุกท่านออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่ 1) สายด่วน พม. โทร. 1300  2) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)  3) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 4) บ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ และ 5) Application คุ้มครองเด็ก  

#############