เกณฑ์มาตรฐานสหกรณ์  

กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีนโยบายใช้การจัดมาตรฐานสหกรณ์มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2545 เพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้วัดประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ในขณะเดียวกันก็ใช้สำหรับวัดผลการดำเนินงานของสหกรณ์ควบคู่กัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินศักยภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน เพื่อจัดระดับความสามารถและประสิทธิภาพด้านบริหารงาน   มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผลการประเมินสหกรณ์แต่ละแห่ง แต่ละประเภท   จะมีการกำหนดเกณฑ์การชี้วัดเพื่อจัดชั้นมาตรฐานให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินว่ามีข้อบกพร่องด้านใดที่ต้องได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยมาตรฐานสหกรณ์ในปัจจุบันมีการกำหนดระดับมาตรฐานไว้สองระดับคือ ระดับผ่านมาตรฐานและไม่ผ่านมาตรฐาน โดยสหกรณ์ที่จะผ่านมาตรฐานจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 7 หัวข้อดังนี้

เกณฑ์ข้อที่ 1 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีสุดท้ายย้อนหลังสหกรณ์มีผลการดำเนินงานไม่ขาดทุนเว้นแต่มีอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติจนเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์โดยรวม

เกณฑ์ ข้อที่ 2 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลังไม่มีการกระทำอันถือได้ว่าทุจริตต่อสหกรณ์

เกณฑ์ ข้อที่ 3 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้าย สหกรณ์จัดทำงบการเงินแล้วเสร็จและส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แล้วนำเสนอเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

เกณฑ์ ข้อที่ 4 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้ายสหกรณ์ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของสมาชิกทั้งหมดร่วมทำธุรกิจกับสหกรณ์

เกณฑ์ ข้อที่ 5 ต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ปฏิบัติงานประจำรับผิดชอบดำเนินงานและธุรกิจของสหกรณ์ หากไม่มีการจัดจ้างต้องมีกรรมการดำเนินการหรือสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ

เกณฑ์ ข้อที่ 6 ผลการดำเนินงานในรอบสองปีบัญชีย้อนหลังสหกรณ์ต้องมีการจัดสรรกำไรสุทธิและจ่ายทุนสวัสดิการสมาชิกหรือทุนสาธารณประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

เกณฑ์ ข้อที่ 7 ผลการดำเนินงานในรอบปีบัญชีสุดท้ายสหกรณ์ ต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ของนายทะเบียนสหกรณ์

         ในการผลักดันให้สหกรณ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานนั้น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลและปรึกษาหารือโดยมีวางแผนร่วมกับสหกรณ์ในการดำเนินการ และจะต้องมีการแนะนำเสริมอย่างต่อเนื่อง และสหกรณ์เองต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ การดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการตามความต้องการของสมาชิก  มีการวางแผนการดำเนินงานในแต่ละธุรกิจที่ชัดเจน  มีระบบควบคุมภายในและการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าหากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์ร่วมวางแผนและลงมือปฏิบัติร่วมกันอย่างจริงจังก็จะส่งผลให้สหกรณ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามตัวชี้วัดที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด