แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรด้วยวิถีสหกรณ์  

 
 
 
 

 

แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรด้วยวิถีสหกรณ์

                                ปัจจุบันสหกรณ์ภาคการเกษตรจำนวนมากประสบปัญหาสมาชิกสหกรณ์มีอัตราหนี้ค้างชำระค่อนข้างสูง  สาเหตุสำคัญมาจากสมาชิกและฝ่ายจัดการของสหกรณ์ที่ยังขาดความรู้ความสามารถในการจัดการด้านธุรกิจสินเชื่อ เช่น การเร่งรัดหนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และลูกหนี้ค้างนานต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีการแก้ไขปัญหา และปัญหาความสามารถชำระหนี้ในอนาคตของลูกหนี้ลดลง ประกอบกับสมาชิกมีหนี้สินหลายทาง ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ  ความผันผวนของราคาผลผลิตในท้องตลาด ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการชำระหนี้ของสมาชิก  และหากผู้บริหารสหกรณ์ขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างทันเหตุการณ์  ก็จะเป็นความเสี่ยงต่อสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ และอาจก่อให้เกิดหนี้เสีย NPL (Non Profit Loan)  จำนวนมาก  ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน สร้างความเสียหายต่อสหกรณ์และสมาชิกได้ในอนาคต       ซึ่งแยกสาเหตุของปัญหาหนี้ค้างดังกล่าว ดังนี้

                    ปัญหาด้านตัวสมาชิกของสหกรณ์ ส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดียวและมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผลเพียงปีละครั้ง  ต้องพึ่งพาและมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ขาดอำนาจการต่อรองด้านราคาผลผลิต  ต้นทุนการผลิตพืชสูง รายได้ต่ำ ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และหนี้เกิดขึ้นเพื่อการบริโภคไม่สามารถให้เกิดรายได้หรือทรัพย์สินเพิ่ม เกิดปัญหาหนี้ค้างนานและพอกพูนทวีคูณมากยิ่งขึ้นในลักษณะก่อหนี้สัญญาใหม่เพื่อได้เม็ดเงินไปหักล้างหนี้เดิม  อาศัยสินเชื่อทั้งจากแหล่งเจ้าหนี้เดิมและแหล่งเงินกู้นอกระบบ  สมาชิกสหกรณ์ไม่สามารถชำระต้นเงิน  มีแต่ดอกเบี้ยพอกหางหมู เกิดหนี้สินล้นพ้นตัวเกินกว่าจะสามารถชำระได้  

 แนวทางแก้ไขปัญหา  สหกรณ์ควรจัดหาตลาดที่มีการรับชื้อผลผลิตการเกษตรในราคาที่ดีมารองรับผลผลิตของสมาชิก  เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาที่ยุติธรรม  ควรจัดอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิก  เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน  หรือหันไปทำเกษตรอินทรีย์  เพื่อลดต้นทุนการผลิต  และควรจัดอบรมให้ความรู้  ส่งเสริมให้สมาชิกจัดทำบัญชีครัวเรือน  เพื่อจะได้ทราบรายรับ – รายจ่าย  แต่ละเดือนและประมาณการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งสมาชิกสหกรณ์เองต้องปรับทัศนคติการใช้ชีวิตประจำวันรักษาวินัยด้านการออม  ลด/ละ/เลิก ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น 

สำหรับปัญหาของสหกรณ์เอง  สหกรณ์ขาดหลักบริหารความเสี่ยง ไม่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล  การให้เงินกู้โดยคำนึงถึงสิทธิในการกู้มากกว่าความจำเป็นเดือดร้อน ขาดประสบการณ์ในการพิจารณาสินเชื่อ  หย่อนยานไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และระเบียบ  การขาดระบบควบคุมภายในที่ดี  

                    แนวทางแก้ไขปัญหา  สหกรณ์ควรส่งเสริมการออม รณรงค์ให้สมาชิกสะสมเงินเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันของตนเองและครอบครัวในอนาคตรวมทั้งการระดมทุนเป็นค่าหุ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนภายในของตนเองไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยสูงจากภายนอก  เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน  ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายในการพัฒนาธุรกิจ/ให้บริการ  พร้อมทั้งการสนับสนุนเงินทุนให้กู้ยืมไปทำการเกษตรหรืออาชีพเสริมเพิ่มรายได้  ทั้งนี้  เมื่อสมาชิกได้รับเงินกู้ต้องนำไปใช้จ่ายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดย  “ สหกรณ์ ” ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำและสนับสนุนการประกอบอาชีพของสมาชิก และสหกรณ์ควรมีการแก้ปัญหาหนี้สมาชิกเชิงรุกด้วย  โดยการเชิญสมาชิกมาวางแผนการใช้เงิน หากสมาชิกไม่มา ให้ไปพบสมาชิกที่บ้าน เพื่อรับรู้ปัญหาที่แท้จริง  โดยการพูดคุยร่วมกันแก้ปัญหา

                  “การแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์” จะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย   ด้านสมาชิกสหกรณ์เองควรน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  เกษตรทฤษฎีใหม่  ใช้หลักการ อุดมการณ์ และ วิธีการสหกรณ์ และสหกรณ์ต้องร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันโดยกำหนดทิศทางและแผนการทำงานมุ่งสู่ความสำเร็จที่เป็นไปได้ สามัคคีร่วมกันทำด้วยรูปแบบ “สหกรณ์” ใช้หลักการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล และหลักการมีส่วนร่วม ความสำเร็จของสหกรณ์ในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์  ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนสืบไป

                  

กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 2

สำนักงานสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู