องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ********************  

 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง

เวลา 09.15 น. องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การนี้ได้รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดสงขลา และความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ระยะที่ 2 ณ ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพพื้นที่คลองภูมินาถดำริ (คลอง ร.1)
      สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริกับ นายจริย์  ตุลยานนท์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุเมธ  ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา สรุปความว่า “...การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขา เพื่อสกัดกั้นน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลมายังเมืองหาดใหญ่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย ดังนั้น การแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภา หรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว นอกจากนั้น หากต้องการที่จะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธุรกิจให้ได้ผลโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่ก่อสร้างคลองระบายน้ำเสร็จ ก็ควรพิจารณาสร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขังตามความจำเป็น ทั้งนี้ ให้พิจารณาร่วมกับระบบของผังเมือง ให้มีความสอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย...” และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 มีพระราชดำรัสกับคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย เกี่ยวกับอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปความว่า “...เมื่อวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2543 มีน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ มีความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งถ้าได้ทำตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2531 ที่ลงทุนไปนั้นจะได้กลับคืนมาหลายเท่าตัว...” โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) โครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ว่า “คลองภูมินาถดำริ” โดยสำนักงาน กปร. ได้ประสานกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการจนแล้วเสร็จ ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่  และพื้นที่ใกล้เคียงได้ประมาณ  158,000 ไร่ ช่วยการระบายน้ำได้ประมาณ 930 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่หากแล้วเสร็จทั้งระบบจะระบายน้ำได้เร็วขึ้นประมาณ 1,755 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 10.6 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งยังเป็นแหล่งสำรองน้ำจืดเพื่อใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้งอีกด้วย

    สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา สืบเนื่องจากระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2553 มีฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน เกิดน้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,623.50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เกินศักยภาพของคลองระบายน้ำที่มีอยู่ ทำให้ปริมาณน้ำไหลล้นจากคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำ ร.1 เข้าท่วมพื้นที่ของเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง ต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำประมาณ 2 วัน จึงเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งได้สร้างความเสียหายประมาณ 10,490 ล้านบาท และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมชลประทานจึงได้พิจารณาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ ร.1 และอาคารประกอบ ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำดังกล่าวได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเดิมระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อรวมกับอัตราการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดรวม 1,665 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมีกิจกรรมหลัก คือ ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 ความยาว 21.34 กม. ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 ก่อสร้างประตูระบายน้ำบางหยี 2 และก่อสร้างสถานีสูบน้ำบางหยี ปัจจุบันการดำเนินงานก่อสร้างทั้งโครงการฯ 92.10% กำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งหากโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ให้ระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้านลูกบาศก์เมตรอีกด้วย


กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.