ศรีสะเกษ ปลัดจังหวัดศรีสะเกษรณรงค์ประชาสัมพันธ์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ้านโนนสูง หมู่ที่ 8 ต.บึงบอน อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายสุรศิษฐ์ อินทกรอุดม ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์งบกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ปี 2565 ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดฐานเรียนรู้ จำนวน 4 ฐานได้แก่จุดเรียนรู้ที่ 1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร (สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ) จุดเรียนรู้ที่ 2. การผลิตปุ๋ยหมัก การไถกลบตอซัง และการปลูกพืชปุ๋ยสด จุดเรียนรู้ที่ 3. การผลิตอาหารสัตว์จากฟางข้าว และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และจุดเรียนรู้ที่ 4. การใช้เทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมี นายกิตติศักดิ์ วิมลสุข ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยส่วนราชการระดับจังหวัดและระดับอำเภอยางชุมน้อย ผู้นำท้องถิ่น เครือข่ายเกษตรกร เกษตรกรในพื้นที่ ต.บึงบอน อ.ยางชุมน้อย ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
นายกิตติศักดิ์ วิมลสุข ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ ได้แก่ อ.ยางชุมน้อย อบต.บึงบอน สถานีพัฒนาที่ดิน ศรีสะเกษ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ห้างหุ้นส่วนจำกัด คูโบต้าศรีสะเกษเลาเจริญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึกของเกษตรกรให้หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร และส่งเสริมการมีสวนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ในกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 และเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
นายสุรศิษฐ์ อินทกรอุดม ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศและการท่องเที่ยว สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การเผาในพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การเผาในพื้นที่การเกษตรยังเป็นการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย จากผลการดำเนินงานของ จ.ศรีสะเกษ ในการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2565 พบว่าจุดความร้อนสะสมลดลงจากปี 2564 จำนวน 11 จุด คิดเป็นร้อยละ 57.89 ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา และนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมจัดงานรณรงค์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของ จ.ศรีสะเกษ///////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ