กรมชลประทานประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก จังหวัดเพชรบูรณ์
วันนี้( 19 พ.ค.65 ) เวลา 09.00 น. ที่หอประชุมอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นจำนวนกว่า 200 คน
สืบเนื่องจาก พื้นที่ตำบลบ้านโตก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูก ในฤดูฝนมีฝนตกมาก แต่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงต้องการให้ทางราชการช่วยจัดหาแหล่งน้ำสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร อุปโภค-บริโภคและอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง จึงได้ทำหนังสือร้องขอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้พิจารณาจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภค โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ตำบลบ้านโตก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
ต่อมาในปี 2561 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน จึงได้ตรวจสอบภูมิประเทศและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พบว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ตำบลบ้านโตก มีความเป็นไปได้ในการพัฒนา จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงการเบื้องต้นแล้วเสร็จ และพบว่า มีพื้นที่ศักยภาพที่สามารถจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลบ้านโตก อีก 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านโตก ปี 2564 ได้บรรจุโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ 8 โครงการ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรวมถึง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง และอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านโตก ด้วย
เนื่องจาก พื้นที่บางส่วนของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง และอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านโตก อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1B จึงเข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม( 28 พฤศจิกายน 2562) ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาปางก่อ ป่าเขาวังชมพู ในเขตป่าอนุรักษ์ เพิ่มเติม( Zone C ) มากกว่า 500 ไร่ จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติ ครม. เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกอบการพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้าง
ในปี 2565 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบไปด้วย บริษัท สามารถ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซด์ จำกัด และบริษัท ออโรส จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง และอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านโตก จังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 รวม 450 วัน
สำหรับการประชุมวันนี้ เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านโตกและตำบลชอนไพร และหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง และอ่างเก็บน้ำบ้านโตก เพราะมีประโยชน์ จะสามารถกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค เพื่อการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในฤดูฝนได้ แต่ก็มีบางท่านมีความกังวล เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน กังวลที่ดินทำกินซึ่งอาศัยมานาน และเป็นมรดกตกทอดมาจากบิดามารดา มีแนวทางการชดเชยที่ดินทำกิน ทั้งที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีอกสารสิทธิ์ และการชดเชยต้นไม้(มะขาม) อย่างไร พื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรที่อาจจะได้รับผลกระทบ จะช่วยเหลืออย่างไร จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาทางช่วยเหลือ ซึ่งกรมชลประทานและผู้ศึกษาได้รับฟังปัญหาของประชาชนทุกปัญหา และจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาในรายละเอียดต่อไป
.....................................