สร้างสุขภาวะ ด้วยCollective Intelligentce กรรมการ กขป.3 รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ตามวิสัยทัศน์ "สร้างสุขภาวะ ด้วย Collective Intelligence"
เมื่อเวลา 10:00 น. วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องประชุมศูนย์สั่งการและควบคุมการปฏิบัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตสุขภาวะเพื่อประชาชนพื้นที่ 3 (กขป.3) สปสช. ร่วมรับฟังการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ จากคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 3 นำโดย ดร.ชำนาญ วัฒนศิริ รองประธาน กขป.3 นพ.สมพงษ์ ยูงทอง ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ กขป. และ ดร.นเรศ คงโต เลขานุการ สช.
จากการนำเสนอแผนงานและแนวทางการทำงาน เขต 3 วิสัยทัศน์ “สร้างสุขภาวะ ด้วยปัญญารวมหมู่” (Collective Intelligence) เพื่อสุขภาวะคนเขต 3” สำหรับประเด็น “ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และสร้างชุมชนเข็มแข็ง” นั้น โดยการทำงานของ “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” เพื่อคำนึงถึงกติการ่วม ข้อตกลงร่วมของคนในชุมชนที่เกิดจาก สำนึกของคนในตำบลที่มาอยู่ร่วมกันและสามารถกำหนดเป้าหมายอนาคต ตามวิถีชีวิตแห่งจิตสำนึกร่วม โดยการบูรณาการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
ด้านประเด็น "เกษตรสุขภาวะ : สุขแท้ที่บ้านเกิด" เสนอแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1.มอบอนุกรรมการยุทธศาสตร์ ประชุมปรึกษาหารือกับคณะทำงาน อบจ.นครสวรรค์ เพื่อออกแบบ
การขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยขอให้ อบจ.นครสวรรค์ พิจารณาคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องแบบ Cross Functional (รอประชุมปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรด้านศึกษา ด้านข้อมูลสารสนเทศ ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น)
2.การคัดเลือกเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย มีวิธีการที่หลากหลายเหมาะสมกับภูมินิเวศและความต้องการการพัฒนา เช่น ข้อมูลจาก อปท. โรงเรียน สจ. และภาคีที่เกี่ยวข้อง
3.กระบวนการขับเคลื่อนในกลุ่มเป้าหมายมีความยืดหยุ่น เร็ว-ช้าไม่เท่ากัน โดยเน้นผลลัพธ์ต้องบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ คือ สร้างเยาวชนผู้ประกอบการภาคการเกษตรฯ
4.ในอนาคตจะเชื่อมโยงสู่ระบบสร้าง Credit ทางการศึกษาและเข้าถึงทุนการศึกษาฯ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ
โดยพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้กล่าวว่า " ณ เวลานี้ ธรรมนูญสุขภาพตำบล ทำได้ 13 แห่ง อยากจะให้ทำไปพร้อมกันทีเดียวเลย เพราะบางแห่งมีศักยภาพทางด้านอื่นด้วย เช่น ด้านสมุนไพร ด้านการมัดย้อมเสื่อ ซึ่งบางพื้นที่ได้ทำป่าชุมชน ทำให้สานต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน การที่เราเริ่มจากธรรมนูญสุขภาพตำบลทำให้สามารถต่อยอดได้อีก จากการที่ได้ออกพื้นที่นั้น ได้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งควรส่งเสริมเพื่อสานต่อแก่คนรุ่นหลัง และอีกหนึ่งปัญหาที่พบคือการวางผังเมือง ซึ่งส่งผลในด้านบริหารจัดการน้ำบริโภคที่ไม่เพียงพอ ด้านระบบระบายน้ำทิ้ง ด้านการกำจัดขยะ ก่อให้เกิดระบบนิเวศน์มีเสื่อมโทรม จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ เพื่อให้ประชาชนได้รับสุขภาวะที่สมบูรณ์”
/////