ศรีสะเกษ รพ.สต.แต่งชุดดำตะโกนก้องกระทรวงสาธารณสุขปล่อยเราไปต้องการโอนไปสังกัด อบจ. ขณะที่  นายก อบจ.เผย หากจะโอน รพ.สต.มาทั้งหมด 117 แห่งพร้อมรับ แต่หากอนุมัติให้โอนมาเพียง 13 แห่งจะส่งคืน  

 

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหน้าอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ                      ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  นายพรชัย ศรีปัตเนตร ผอ.รพ.สต.บ้านกุดโง้ง อ.เมืองศรีสะเกษ ในฐานะ รองประธานชมรม รพ.สต. (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ  ได้นำกลุ่มข้าราชการ รพ.สต.สังกัดสำนักงานสาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ จำนวน 117 แห่ง จำนวนประมาณ 90  คน พร้อมใจกันแต่งชุดดำเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และชูป้ายข้อความว่า  “กระทรวงสาธารณสุข ปล่อยเราไป” “รพ.สต.ศรีสะเกษ จะไป อบจ.” ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อต้องการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต. ทบทวนการปรับลด การถ่ายโอน รพ.สต. และบุคลากร   โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 65  ที่ผ่านมา  ครม.ได้มีมติให้ปรับลดจำนวน รพ.สต. ที่มีความประสงค์จะโอนไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 1 ต.ค. 65 นี้ จากจำนวนทั้งสิ้นที่สมัครใจจำนวน 117 แห่ง คงเหลือเพียงจำนวน 13 แห่งเท่านั้น โดยตัวแทนบุคลากร รพ.สต.ที่มาชุมนุมทั้งหมด ได้พร้อมใจกันตะโกนก้องเสียงดังว่า กระทรวงสาธารณสุขปล่อยเราไป และตะโกนคำว่า รพ.สต.ศรีสะเกษ จะไป อบจ.  โดยมี นายวิชิต  ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ และคณะลงมาพบปะเพื่อรับทราบความต้องการของกลุ่มตัวแทน รพ.สต.ที่มาร่วมชุมนุมกันในครั้งนี้

นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ  กล่าวว่า  รพ.สต.จำนวน 13 แห่งที่ได้รับอนุมัติให้โอนมา ก็จะเป็นปัญหา ส่วนที่เหลือจำนวน 104 แห่งที่มาไม่ได้ก็จะเป็นปัญหา คือจริง ๆแล้วเราไม่ได้ไปขอรับ รพ.สต.มาทำเอง พวกเขาสมัครใจกันมาเองทั้ง 117 แห่ง  แต่เมื่อสมัครใจมาจำนวน 117 แห่งแล้วให้มาแค่ 13 แห่งแล้วที่เหลือจะทำอย่างไร ถ้าเราไปยื่นขอ รพ.สต.มาโอเคได้เท่าไหร่ก็เอา ซึ่งไม่ใช่แต่นี่เราไม่ได้ยื่นขอ เขาขอมาอยู่กับ อบจ.ศรีสะเกษเอง  ฉะนั้นเมื่อขอมาเราก็รับหมด  ไม่รับก็คือไม่รับ ก็ไม่เป็นไรไม่ต้องทำ คือถ้าจะอนุมัติให้ถ่ายโอนมา 13 แห่งก็จะไม่รับ เมื่อไม่รับก็จะส่งคืนไปที่อื่น  

นายก อบจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จริง ๆแล้วเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องเป็นผู้ดูแลไม่ว่าจะเป็นตนหรือตัวข้าราชการก็จะเป็นคนท้องถิ่นก็ได้รับทราบปัญหาต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของบุคลากรที่จะมาดำเนินการในเรื่องสุขภาพนี้ มันติดขัดอะไรตรงไหน เราสามารถแก้ไขปัญหาได้เบ็ดเสร็จที่ตรงนี้เลย แต่ที่เขาอยู่ปัจจุบันนี้เขามีปัญหาอะไรก็จะต้องรอแต่ส่วนกลาง ต้องรอดูว่ารัฐบาลกลางจะว่ายังไง ถ้ามีนโยบายออกมาก็จะต้องพร้อมกันทั่วประเทศซึ่งปัญหาของท้องถิ่นนี้ แต่ละท้องถิ่นจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นศรีสะเกษก็อาจจะเป็นอย่างหนึ่ง โคราชก็อาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ภาคใต้ก็แบบหนึ่ง ปัญหาจะไม่เหมือนกัน พวกท่านบริหารงานโดยรัฐบาลกลางที่นั่งอยู่แต่ในห้องแอร์ คิดอะไรแล้วก็ว่ากันออกมามันไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นแต่อย่างใด//

ภาพ / ข่าว   ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ