สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตั้งเป้าปี 2565 รับนักศึกษาเข้าคณะเกษตรนวัตและการจัดการ70คน เพื่อให้ศึกษาเรียนรู้การนำวิชาการไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น รองรับความต้องการของตลาดและวิถีชีวิตในอนาคต
ดร.มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะเกษตรนวัตและการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยถึง “เส้นทางอาชีพกับโอกาสการศึกษา..สู่การทำงานในยุคโควิด19 กับคณะเกษตรนวัตและการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สร้างอาชีพด้วยมืออาชีพ” ว่า จากสถานการณ์ และความต้องการของสังคมที่ปรับเปลี่ยนไป คณะจึงได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนโดยเน้นการเชื่อมโยงผู้เรียน หลักสูตร และอาชีพเข้าด้วยกัน โดยตลอด 4 ปี แบ่งเป็นภาคการศึกษาใหญ่ 8 ภาค ภาคการศึกษาย่อย 16 ภาค และไม่มีการปิดเทอม ทั้งนี้นักศึกษาจะได้เรียนทฤษฎีสลับกับภาคปฏิบัติทั้งการเข้าlab การสัมมนา การอภิปราย และการฝึกงานจริงในรูปแบบธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้จากภาควิชาการไปใช้ปฏิบัติจริง เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกคิดและต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ อาทิ นำวิชาฟิสิกส์ไปใช้ในการวางระบบไฟฟ้าในฟาร์ม วางระบบน้ำในฟาร์ม การนำวิชาเคมีไปใช้ประยุกต์ในการนำสารเคมีไปใช้บำรุงต้นพืช แก้ปัญหาโรคและแมลง การนำวิชาชีววิทยาไปใช้ในการพัฒนาพืชในท้องถิ่นให้เป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ เป็นต้น
โดยในปีแรก นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนการจัดการพัฒนาธุรกิจเกษตร และต้องเข้าไปฝึกงานในร้าน 7-11 เพื่อศึกษาทิศทางของการตลาด และความต้องการความสนใจของผู้บริโภค จากนั้นนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์สินค้าแต่ละชนิด เพื่อสร้าง value supply chain และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 นักศึกษาจะได้ฝึกงานกับภาคธุรกิจต้นน้ำ ส่วนชั้นปีที่ 3 ฝึกงานกับกลางน้ำ และชั้นปีที่ 4 ฝึกงานกับภาคธุรกิจปลายน้ำที่จะได้มีโอกาสต่อยอดอาชีพหลังจบภาคการศึกษา ซึ่งนอกจากจะฝึกให้นักศึกษารู้จักค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่างมีเหตุผล ยังทำให้นักศึกษากล้าแสดงออก และเรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเพื่อนๆ พร้อมไปกับการแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อน
ขณะเดียวกันนักศึกษายังได้เรียนรู้วิชาด้านบัญชี การเงิน การตลาด ฯลฯ ทำให้ได้เข้าใจและมองภาพรวมธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น รู้ที่มาของการลงทุน รายได้และกำไร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกิจที่เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญ จึงจะทำให้ธุรกิจที่ทำประสบผลสำเร็จ รวมไปถึงการทำงานในสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้หลังจบภาคการศึกษาในแต่ละชั้นปี คณบดีและคณาจารย์ของคณะจะสัมภาษณ์นักศึกษาแต่ละคนว่าได้รับองค์ความรู้อะไร เกิดประโยชน์อย่างไร จะประยุกต์อย่างไร และมีความสนใจด้านไหนอย่างไร เพื่อจัดการเรียนให้กับนักศึกษาแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมในชั้นปีถัดไปตลอดการศึกษา
คณบดีคณะเกษตรนวัตและการจัดการ ขยายความต่อว่า ในส่วนของคณาจารย์ของคณะ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านงานบริหารธุรกิจ นำความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจมาถ่ายทอด พร้อมสอดแทรกความรู้ในด้านการลงทุน และการตลาดต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของธุรกิจและพร้อมที่จะต่อยอดแนวคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ นับจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ทางคณะได้สร้างบัณฑิต 9 รุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 220 คน ซึ่งนักศึกษาของคณะทุกคนไม่มีใครที่ตกงาน เพราะคณาจารย์ได้ให้ความสนใจแนะนำแนวทางการศึกษาให้นักศึกษาแต่ละคนอย่างเข้มข้น ตรงตามความต้องการ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้เป็นบัณฑิตที่สามารถทำงานในภาคธุรกิจเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่งได้ติดต่อรับบัณฑิตใหม่ของสถาบันเข้าทำงานถึง80% ส่วน20% ที่เหลือเป็นนักศึกษาที่ต้องใช้ทุนทำงานกับเครือเจริญโภคภัณฑ์
สำหรับปี 2565 คณะตั้งเป้ารับนักศึกษาเข้าเรียนจำนวน 70 คน เพื่อสร้างบัณฑิตที่พร้อมก้าวเข้าสู่เส้นทางการตลาดเกษตรแนวใหม่ในยุคโควิด19 โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมาทางสถาบันฯ มีทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่สนใจใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับแรก ทุนเจียระไนเพชร ที่มอบทุนให้ 97% จากค่าใช้จ่ายตลอดการศึกษา 284,000บาท และนักศึกษาจ่ายค่าเล่าเรียนทั้งสิ้น 28,000 บาทตลอดการศึกษา หรือเพียงเทอมละ 3,500บาท จำนวน 8 ภาคการศึกษา ซึ่งเมื่อจบการศึกษาจะเข้าทำงานกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเวลา 2ปี
2.ระดับที่สอง ทุน 50% ซึ่งตลอดการศึกษานักศึกษาจะจ่ายค่าเทอมทั้งสิ้น 142,000บาท และเมื่อจบการศึกษาจะได้เข้าทำงานกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเวลา 1 ปี
และ 3.ระดับที่สาม ทุนส่วนลด เมื่อนักศึกษาสมัครเข้าเรียนจะมีค่าใช้จ่ายเทอมแรก 5,000บาท จากนั้นจะได้ส่วนลดต่างๆรวมแล้ว10% จากค่าใช้จ่ายตลอดการศึกษาทั้งสิ้น 284,000บาท นอกจากนี้สถาบันยังมีสำนักพัฒนานักศึกษา และศูนย์ที่ปรึกษาและพัฒนาอาชีพนักศึกษาดูแลการหางานพิเศษให้นักศึกษาที่ต้องการมีรายได้ในช่วงระหว่างเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง และทำให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของเงินและรู้จักวางแผนการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ.