ประสานแผน อปท.วันสอง นายก อบจ. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำและประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อปท. ทุกแห่งในนครสวรรค์ ร่วมกันมองภาพรวม  

ประสานแผน อปท.วันสอง

นายก อบจ. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำและประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อปท. ทุกแห่งในนครสวรรค์ ร่วมกันมองภาพรวม

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 มีนาคม 2565 ณ หอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้มอบนโยบาย แนวทางการจัดทำและประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้ผู้บริหาร อปท. ทุกแห่งได้นำแนวทาง แผนการพัฒนาต่าง ๆ ไปปฏิบัติและดำเนินการในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยมองในภาพรวมทั้งจังหวัด และพื้นที่ข้างเคียง

โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ มีทั้งหมด 142 แห่ง ในการประชุมแบ่งออกเป็น 3 วัน คือระหว่างวันที่ 14 -16 มีนาคม 2565 โดยวันนี้มีผู้ร่วมการประชุม มีทั้งคณะผู้บริหาร อบจ.นครสวรรค์, นายกเทศมนตรี, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล, สจ. และ อปท.ในเขต อ.ลาดยาว, อ.แม่วงก์, อ.แม่เปิน และ อ.ชุมตาบง 

วันนี้เริ่มการประชุมโดย นายพนมศักดิ์ เอมอยู่ นักวิชาการ หลักประกันสุขภาพ นักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3  นครสวรรค์ บรรยายพิเศษ เรื่อง กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น และการจัดบริการสาธารณสุข สำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว ( Long Term Care)   “ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานกองทุนฯ มีดังนี้ 1.ประชาชน  2.อปท. (อบจ./เทศบาล/อบต.) 3.เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ (จนท.สาธารณสุข/จนท.ท้องถิ่น/จนท.หน่วยงานของรัฐ/องค์กรชุมชน/กลุ่มบุคคล)  ซึ่งในการขับเคลื่อนชุมชน  เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการ  ร่วมไปถึงหากการทำงานไม่ร่วมตัวกันก็จะไม่ประสพความสำเร็จ”

พร้อมกันนี้นายก อบจ.ได้กล่าวว่า “การบริหารจัดการน้ำที่อบจ.ให้ความสำคัญ ได้มีการประชุมหารือ สำรวจศึกษาข้อมูลเส้นทางน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว การวางระบบเส้นทางน้ำ ซึ่งในจังหวัดนครสวรรค์  มีแม่น้ำหลายสายมีปัญหาจากการสร้างถนนปิดเส้นทางน้ำ และเส้นทางน้ำมีความตื้นเขิน  เมื่อถึงฤดูน้ำหลากทำให้น้ำเกิดการระบายไม่ทัน จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เริ่มจากเขตอำเภอลาดยาว เขตอำเภอบรรพตพิสัย เขตอำเภอเก้าเลี้ยว และเขตอำเภอเมือง ซึ่งในหลักการทำงานของ อบจ.จะเร่งแก้ปัญหาประชาชน และยังคำนึงถึงหลักตามระเบียบ  เพราะหากมีการตรวจสอบจาก สตง.หรือหน่วยงานอื่น โครงการที่ทาง อบจ.ได้ดำเนินการ  จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบ  และอะไรที่อยู่ในอำนาจของ อบต. ขอให้อบต.ดำเนินการ และหากเกินศักยภาพ อบต. อบจ.จะเข้าไปร่วมดำเนินการ  ซึ่งบางครั้งจะมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม”

"อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการประสานแผน คือคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง จะต้องดีขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนา อยากให้ทุกคนร่วมกันปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ซึ่งเมื่อทุก อปท.สามารถเติมเต็มนโยบาย ที่ทาง อบจ. กำหนดไว้ บ้านเมืองนครสวรรค์ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง" พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ กล่าวในที่สุด
///