ศรีสะเกษ วัดป่าพิมลมังคลารามปลูกต้นลำดวนและดอกคอสมอสเพื่อให้วัดเป็นรมณียสถานสะอาดสวยงาม เหมาะกับการปฏิบัติธรรม
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดป่าพิมลมังคลาราม ต.ทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายธานนท์ โสภิตชา ผอ.สำนักงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยว จ.ศรีสะเกษ น.ส.พรนภา ชาชุมพร ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีปลูกต้นลำดวน อายุต้นลำดวนต้นละประมาณ 30 ปี จำนวน 40 ต้น ซึ่งเจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และเจ้าอาวาสวัดป่าพิมลมังคลาราม ได้ขอบิณฑบาตมาจาก ผอ .สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ศรีสะเกษ และได้เคลื่อนย้ายต้นลำดวนนำเอามาปลูกภายในบริเวณวัดแห่งนี้ เพื่อให้เกิดความร่มรื่นสวยงาม โดยบริเวณใกล้เคียงกันนี้มีการปลูกต้นคอสมอสกระจายเป็นบริเวณกว้างและกำลังออกดอกอย่างสวยงามตระการตา ทางวัดมีการจัดภูมิทัศน์รอบบริเวณอย่างสวยงามมาก มีประชาชนชาวศรีสะเกษและนักท่องเที่ยวทั่วไป พากันเข้ามาชมความสวยงามของสวนดอกไม้ และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกอย่างต่อเนื่อง
จากนั้น คณะของ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางด้วยรถ จยย.พ่วงข้าง ซึ่งมีการตกแต่งด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม ไปที่บ้านโนนแดงโนนม่วง เพื่อประกอบพิธีเปิดถนน “INEC ชุมชนสัมพันธ์วิถีวัฒนธรรมบ้านโนนแดงโนนม่วง” เพื่อส่งเสริม สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และได้เดินทางไปเปิดถนนภายในหมู่บ้านโนนแดงโนนม่วง ซึ่ง นายพัชกร จันทำ ประธานบริษัท พี.เจ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้บริจาคเงิน จำนวน 1,000,000 บาท จัดสร้างถนนแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ระยะทางรอบหมู่บ้านยาวประมาณ 2 กม.ติดตั้งไฟโซล่าเซลล์ เพื่อส่องสว่างตลอดเส้นทางเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนชาวบ้านโนนแดงโนนม่วง โดยมี นายสว่าง ดวงอาจ นายก อบต.ทุ่งไชย นายนิรุตย์ เกษกุล นายกเทศมนตรี ต.โคกจาน อ.อุทุมพรพิสัย นายรักชาติ ฤทธิ์เดช นายก อบต.บุสูง อ.วังหิน และนายมหาหิงค์ ไพรสิน นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง นำคณะข้าราชการ ประชาชนบ้านโนนแดงโนนม่วง มาร่วมพิธีและให้การต้อนรับ
เจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และเจ้าอาวาสวัดป่าพิมลมังคลาราม กล่าวว่า กุศโลบายของการปลูกดอกไม้ภายในวัดป่าพิมลมังคลารามก็คือว่า เราต้องทำวัดให้เป็น รมณียสถานก่อนคือทำให้วัดเป็นที่เหมาะสมสวยงามและเป็นที่น่าสนใจของคนอื่นหมายถึงว่าวัดต้องดูแลความสะอาดเรียบร้อยสวยงามให้คนที่อยู่วัดก่อน ส่วนญาติโยมที่จะมาดูหรือไม่มาดูก็เป็นเรื่องอีกส่วนหนึ่งต้องทำให้วัดของเราสะอาดดูดี การปลูกดอกไม้เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเบื้องต้นก็คือชาวบ้านที่จะพากันมาลงแขกปลูกต้นไม้ในส่วนของราชการตั้งแต่ อบต.อำเภอรวมทั้งรอง ผวจ.ศรีสะเกษ และ ผวจ.ศรีสะเกษ ก็ได้ให้ความสำคัญในการที่จะมาช่วยดูแลให้ ซึ่งดอกไม้ที่ปลูกในขณะนี้ก็คือคอสมอสและดอกทานตะวัน ซึ่งในวันนี้ท่านรอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้มาปลูกต้นลำดวนจำนวนประมาณ 40 ต้น ต้นใหญ่แล้วอายุประมาณ 30 ปี โดยทาง สวท.ศรีสะเกษได้ถวายวัด โดยที่ตั้งของ สวท.เก่าจะมอบคืนให้กับทางมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ อาตมาภาพจึงได้ขอบิณฑบาตต้นลำดวนเอาไว้ เดือนเมษายนนี้คาดว่าดอกลำดวนที่นำมาปลูกจะออกดอกหอมเต็มทั้งวัด ต่อไปก็จะมีดอกอินทนิลส่วนบริเวณแก้มลิงแห่งนี้มีพื้นที่ใช้สอยเยอะมาก โดย รอง ผวจ.ศรีสะเกษได้เสนอแนวทางว่าให้ทำเป็นรมณียสถาน โดยการปลูกไม้ดอก อาจจะเป็นดอกอินทนิลหรือดอกคูนเป็นต้น ซึ่งจะต้องมาดีไซน์กันอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญต้องให้ทำเป็นที่สวยงามก่อน เพื่อเป็นจุดเช็คอิน จากนั้นจึงค่อยมาคิดกันว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวและกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการร่วมกิจกรรมเปิดINEC ชุมชนสัมพันธ์วัฒนธรรมที่วัดป่าพิมลมังคลาราม มองเห็นว่าชุมชนนี้สามารถพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว 3 ธรรม คือ 1.ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติบำบัด เพราะมีฐานให้นั่งปฏิบัติสมาธิที่มีธรรมชาติของต้นไม้ร่มเย็น 2. ท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม คือชุมชนเข้มแข็งและมีน้ำใจ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน มีอาหารพื้นถิ่นที่หลากหลายทางวัฒนธรรมน่าค้นหา และ 3. การท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เพราะวัดนี้มีสายน้ำล้อมรอบวัด มีจุดที่เป็นสายน้ำ2 สี คือสายน้ำสองสายมาบรรจบกันสีน้ำแตกต่างกัน มีกุฏิหลังเล็กๆที่ให้ญาติโยมมาปฎิบัติธรรมหลายหลังที่สามารถเห็นความงามของดอกไม้ที่ทางวัดปลูกหลายชนิดและยังมีสระใหญ่เขียวเหมือนมรกต อยู่ด้านหลัง คิดว่านักท่องเที่ยวจะต้องชอบแน่นอน
นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เรื่องชุมชนวัฒนธรรมแห่งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มันเกิดจากพลังของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและท่านเจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศที่ได้มาร่วมกันทำขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต.ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 ตำบล 2 อำเภอมาร่วมกัน ตนใช้คำว่าถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน จุดเริ่มต้นในการเป็นผู้นำเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นก้าวแรก ตนเชื่อว่าพลังต่างๆที่จะขับเคลื่อนมันเริ่มต้นจากพลังแห่งความร่วมมือ ทางราชการเห็นความร่วมมือแบบนี้แล้วจะได้นำไปพิจารณาเพื่อให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เกิดการขับเคลื่อนก้าวหน้าต่อไป ตนขอฝากถึงพี่น้องประชาชนในชุมชนแห่งนี้ว่า 1.ขอให้รักษาพลังที่จะร่วมกันพัฒนาเรื่องการออกแบบความคิดของชุมชนนี้ไว้ ส่วนที่2. คือให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมหรือธรรมชาติให้คงอยู่เพราะว่าการท่องเที่ยวสมัยใหม่ จะเน้นเรื่องวิถีชุมชนเป็นหลัก //////////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ