องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  


 

วันพุธที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ และพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานฯ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านกรุงหยัน หมู่ที่ 2 ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปและติดตาม ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองสังข์ ในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ โดยเร่งด่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 70,000 ไร่ ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ด้วย เนื่องจาก ในปีที่ฝนแล้งหรือในระยะที่ฝนทิ้งช่วงนาน การเพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวจะเกิดการเสียหายเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สนองพระราชดำริโดยสนับสนุนงบประมาณในปี 2561 ให้กรมชลประทาน ดำเนินกิจกรรมเบื้องต้น และงานส่วนประกอบในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยสร้างเป็นเขื่อนดินประเภททำนบดินแบ่งโซน (Zone Type) เพื่อปิดกั้นลำคลองสังข์ สามารถเก็บกักน้ำที่ระดับเก็บกัก 36.57 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จก็จะสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรบ้านกรุงหยัน หมู่ที่ 2 บ้านหมู่บ้านป่าไม้ หมู่ที่ 4 บ้านป่าคลองกรุงหยัน หมู่ที่ 5 บ้านถ้ำเพดาน หมู่ที่ 7 และบ้านบ่อปลา หมู่ที่ 8 ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 1,887 ครัวเรือน ราษฎร 6,123 คน และพื้นที่การเกษตร ประมาณ 22,000 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมทั้งสามารถบรรเทาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัยให้กับราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประสบความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี 

จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพพื้นที่ของโครงการฯ พร้อมกับพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร เพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชประสงค์ต่อไป

ต่อมาในช่วงบ่าย คณะได้เดินทางไปยังโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การนี้ ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ณ บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าเรือ – หัวตรุด (กม. 9+200) พร้อมกับดูสภาพพื้นที่โครงการฯ และพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร ซึ่งโครงการฯ ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ไขและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย โดยเน้นเรื่องการจัดสร้างและการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อการเก็บกักน้ำกับการระบายน้ำออกสู่ทะเล สรุปความว่า "พื้นที่ตอนใต้ของลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำตาปี และลุ่มน้ำปากพนัง มีทำเลเหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อสามารถรองรับน้ำจำนวนมหาศาลได้ และสำรองไว้สำหรับใช้เพื่อการเกษตรกรรมในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ และสมควรพิจารณาขุดลอกลำน้ำที่ผ่านตัวเมืองให้ลึกพร้อมกับขยายลำน้ำเหล่านั้นให้มีความกว้างมากขึ้น รวมทั้งการพิจารณาขุดทางระบายน้ำใหม่เพิ่มอีกตามเหมาะสม ก็จะช่วยระบายน้ำที่ไหลลงมายังตัวเมืองให้ผ่านลงสู่อ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น" ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับสำนักงาน กปร. ดำเนินการสนองพระราชดำริ โดยกำหนดแผนการขุดคลองระบายน้ำจำนวน 3 สาย ความยาวประมาณ 18.64 กิโลเมตร พร้อมกับก่อสร้างประตูระบายน้ำ ขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว, คลองท่าเรือ-หัวตรุด และก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ จำนวน 7 แห่ง เพื่อให้สามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราช และลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์รวม 32,253 ครัวเรือน อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเลี่ยงเมือง โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 2 ฝั่งคลอง จำนวน 17,400 ไร่ และสามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกด้วย  

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.

 




หวยเด็ดงวดนี้
เรื่องอื่นๆในหมวด