มทร.อีสาน ขับเคลื่อนยกระดับทักษะอาชีพภาคเกษตรกรรม วิสาหกิจชุมชน ภาคเหนือ เร่งเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  

 

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุม ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) ได้จัดโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพ ในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็ง แก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยได้รับเกียรติจาก รศ. (พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้แทน รมว.อว. เป็นประธานกล่าวให้โอวาท และกล่าวปิดโครงการฯ โดยมี ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ,รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ,ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการฯ ,ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ประธานโครงการฯ พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการ,ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภาคใต้ และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภาคเหนือ 9 จังหวัด ร่วมพิธีเปิด 

รศ. (พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากท่าน ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ให้มาเป็นประธาน และกล่าวปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพ ในภาคเกษตรกรรม ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน  ภาคเหนือ ในวันนี้

ตามที่คณะทำงานโครงการอบรมฯ โดยการนำของ ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ประธานโครงการฯ และคณะวิทยากร ได้ดำเนินการจัดให้มีการอบรมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ทั้ง 6 ภาค ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมานั้น ทำให้พี่น้องวิสาหกิจชุมชนทั้ง 2574 กลุ่ม ได้มีการยกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ทั้ง 6 ด้าน ครอบคลุมทั้งด้านปศุสัตว์ ,ด้านประมง ,สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ,พืชและเห็ดเศรษฐกิจ ,หมอดิน New Normal และพืชสมุนไพร ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมด้วยศาสตร์พระราชา เป็นแนวทางในการแก้ไขเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตของโรคติดเชื้อโควิด 19 และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน

หลังจากจัดอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรียบร้อยแล้ว โครงการยังจะมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปเป็นทุนตั้งต้น เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน  ซึ่งการอบรมในครั้งนี้เป็นเพียงห้วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ท่านทั้งหลายควรนำสิ่งที่คณะวิทยากรได้ให้ในการอบรมในครั้งนี้ ไปประยุกต์ปรับใช้ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มความสามารถ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

“กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จะเป็นที่ปรึกษาและเป็นกำลังใจในการดำเนินงานของท่าน  ในการที่จะฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ขอชื่นชมและขอบคุณ คณะทำงานโครงการฯ และคณะวิทยากรทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน พิษณุโลก ที่ได้เอื้อเฟื้อให้การสนับสนุนสถานที่ในการจัดการอบรมในครั้งนี้” 
                         
ด้าน ผศ.ดร.นิภาพร อามัสสา ประธานโครงการฯ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนในภาคเกษตรกรรมเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมาภาคการเกษตรถูกควบคุมการผลิต และระบบเกษตรและอาหารตลอดห่วงโซ่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยเหตุนี้เกษตรกรรมและอาหารในอนาคตควรจะเป็นการผลิตเพื่อเป้าหมาย “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่จะเป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกรไทย โดยจะต้องมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อไป

เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชน จึงได้ดำเนินการรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และต้องการกลับสู่ถิ่นฐานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการเกษตรของชุมชน พร้อมทั้งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร. อีสาน) (อว.) นำเสนอโครงการอบรมฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และทางเศรษฐกิจฐานรากประเทศไทย ซึ่งมียุทธศาสตร์คือ เสริมสร้างชุมชนนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชนในพื้นที่โดยสร้างหรือการใช้นวัตกรรม/บริการวิชาการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน