องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง *************  

 

    วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 เวลา 10.10 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคง ณ ฐานปฏิบัติการบ้านสบมาง หมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3254 ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จำนวน 30 ถุง การนี้ องคมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ และร่วมปลูกต้นไทรย้อยใบแหลมเพื่อสร้างความเขียวชอุ่มและร่มเงาให้แก่พื้นที่
    จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการพัฒนาบ้านกอก-บ้านจูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อเชิญถุงพระราชทาน จำนวน 200 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเสื้อกันหนาว จำนวน 40 ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็นจากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และพบปะพูดคุยกับราษฎร พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน อาทิ การเลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย การเลี้ยงไก่ดำ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ  ต่อมาได้รับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของโครงการพัฒนาบ้านกอก-บ้านจูนฯ ที่ได้พัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือพัฒนาราษฎรบ้านกอก หมู่ที่ 11 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน ประกอบด้วย บ้านจูนใต้ บ้านจูนเหนือ บ้านกอกหลวง และบ้านกอกน้อย โดยเริ่มกระบวนการพัฒนาที่มีรากฐานจากความต้องการของราษฎรอย่างแท้จริงจากภายในหมู่บ้านออกสู่สังคมภายนอกในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตามกรอบแนวความคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียง โดยสำนักงาน กปร. ได้สนองพระราชดำริร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาคุณถาพชีวิตของราษฎรในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ จากเดิมมีรายได้เฉลี่ยเพียง 9,900 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เป็น 40,752 บาทต่อปี จากการนำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากโครงการฯ เช่น การปลูกพืชผักหลังนา ปลูกกาแฟ และเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเหลือเก็บเพียงพอที่จะสามารถส่งลูกเรียนในระดับที่สูงขึ้น  อีกทั้งราษฎรยังร่วมกันปลูกฟื้นฟู ดูแล และป้องกันรักษาป่า ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสภาพน้ำในลำห้วยมีคุณภาพดีขึ้นและมีใช้ตลอดทั้งปี สามารถใช้ทำระบบประปาภูเขาผ่านระบบการกรองเพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค และในส่วนของงานศิลปาชีพ ส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้า มีสมาชิกทั้งสิ้น 102 คน ได้รับการพัฒนาฝีมือยกระดับการทอฝ้ายแกมไหม ลวดลายสวยงามจนได้รับเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน โดยผลงานจะจัดส่งขายให้กองงานศิลปาชีพ ทำให้มีรายได้เสริมหลังจากการทำเกษตรกรรมเฉลี่ยปีละ 20,000 บาท 

    ช่วงบ่ายคณะเดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสบขุ่น ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เพื่อเชิญถุงพระราชทาน รวมทั้งสิ้น 643 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเสื้อกันหนาว รวม 400 ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ โอกาสนี้ ได้พบปะพูดคุยกับราษฎรพร้อมเยี่ยมชมผลผลิตต่าง ๆ เช่น การปลูกพริกซึ่งเป็นพริกที่เผ็ดรุ่นแรงมาก ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาทต่อ เพื่อนำไปแปรรูปยานวดสมุนไพร สเปย์พริก และประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปลูกต๋าวซึ่งถือเป็นผลิตผลที่สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอีกด้วย  

จากนั้นคณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสบขุ่น ที่สามารถลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชระบบวนเกษตรทำให้เกิดความหลากหลายของนิเวศเกษตร ในพื้นที่จำนวน 470 ไร่ สภาพทรัพยากรป่าไม้ได้รับการฟื้นฟูและปกป้อง ทำให้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งอาหาร ไม้ใช้สอยให้แก่ชุมชน ราษฎรมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคจากป่าที่ได้รับการฟื้นฟู ส่งผลต่อคุณภาพที่ดีขึ้นของราษฎร


กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.

 
 



หวยเด็ดงวดนี้
เรื่องอื่นๆในหมวด