นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “39 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน”
วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.39 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) “39 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และหน่วยงานร่วมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ฯ ณ บริเวณบ้านนานกเค้า ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ค้นหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2525 โดยมีสำนักงาน กปร. ให้การสนับสนุนงบประมาณ ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด
ภายในงานได้จัดกิจกรรมแสดงผลสำเร็จในการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ภาคอีสานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามแนวพระราชดำริ อาทิ การวิจัยพันธุ์ข้าวเหนียวภูพาน 1 ที่ให้ผลผลิตดี งานด้านปศุสัตว์ 4 ดำมหัศจรรย์แห่งศูนย์ภูพานฯ ได้แก่ ไก่ดำ หมูดำ โคดำ และกระต่ายดำ งานด้านศิลปาชีพ มหัศจรรย์แห่งคราม ความงามของผ้า พัฒนาสู่อาชีพ เป็นการพัฒนารูปแบบผ้าครามให้เหมาะสมกับยุคสมัย ทั้งลวดลาย และการออกแบบ การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้สถาพป่าโดยทั่วไปดีขึ้น โดยการทำวนเกษตรหรือการปลูกไม้ห้าชั้นเรือนยอดเป็นการปลูกป่าธรรมชาติ สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า ส่งผลให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ด้านการเกษตรส่งเสริมให้ราษฎร ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 180 ราย พร้อมกับขยายผลสำเร็จไปสู่เกษตรกรโดยจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ จำนวน 32 แห่ง ในพื้นที่ 22 หมู่บ้านรอบศูนย์ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ จำนวน 18 อำเภอ 36 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สอดคล้องต่อเนื่องจากกิจกรรมสาธิต ในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การจัดฝึกอบรม และการขยายผล เกษตรกรสามารถรับบริการ ได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน รวม 21,920 คน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 1,270 คน จำแนกเป็นรูปแบบ New Normal จำนวน 19 หลักสูตร 715 คน รูปแบบการอบรมแบบออนไลน์ จำนวน 18 หลักสูตร 555 คน
ช่วงบ่าย องคมนตรี พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงสาธิตเกษตรธรรมชาติและเกษตรปลอดภัย ในพื้นที่ขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณบ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินจำนวน 47 ไร่ เพื่อให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทดลองทำเกษตรผสมผสานปลอดภัยแบบธรรมชาติโดยใช้น้ำฝน แต่เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนฝนไม่ตกตามฤดูกาลจึงปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบชลประทานโดยแบ่งพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนคันคูและแบบลงแปลงเกษตรธรรมชาติ เช่น ขี้เหล็ก มะปราง มะพร้าวน้ำหอม มะขาม ฯลฯ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีและเป็นตัวอย่างให้แก่ราษฎรต่อไป
สำหรับการจัดงาน “39 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Exhibition) ผ่านทาง Facebook live ชมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่แปลงเทคโนโลยี่การเกษตร การสาธิตเพาะเห็ด การแปรรูปสมุนไพร และการเสวนา หัวข้อ เกษตรไทยในยุคโควิด-19 และสร้างป่าแล้วได้อะไร ลุ้นรับรางวัลจากการตอบคำถามประจำวัน ติดตามได้ผ่านเฟซบุ๊กศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.