องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพร้อมติดตามการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.40 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานความมั่นคง ณ บก.ร้อย ม.1 บ้านห้วยอื้น ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย รวมทั้งสิ้น 334 ถุง ได้แก่ กองร้อยทหารม้าที่ 1 หมวดทหารม้าที่ 1 - 3 และ กพ.ชป.นาโต่ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนและรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชน เพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ
จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานจำนวน 354 ถุง ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเสื้อกันหนาว รวม 1,004 ตัว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการฯ เพื่อบรรเทาความหนาวจากสภาพภูมิอากาศของภาคเหนือ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านห้วยหยวกป่าโซ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านธารทอง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรเสมอมา
โอกาสนี้ องคมนตรี ได้พบปะพูดคุยกับราษฎรพร้อมเยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการฯ และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง” เน้นเรื่อง “คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างผสมผสานกลมกลืน” โดยใช้หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันพบว่าราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านอาชีพ ความมั่นคงทางด้านอาหาร มีระบบสาธารณูปโภค เยาวชนได้รับการศึกษา อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับการฟื้นฟูกลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านห้วยหยวกป่าโซ มีผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนางานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการรักษาสภาพป่าร่วมกับชุมชนให้คงความสมบูรณ์ราว 2,500 ไร่ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำด้วยการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบต่าง ๆ ราว 4,400 ไร่ ทำให้ป่าที่อุดมสมบูรณ์กลับคืนมา นอกจากนี้ได้จัดทำแปลงเกษตรสาธิต ทั้งด้านเกษตรการปลูกพืชและไม้ผลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ เช่น การปลูกฝักทองญี่ปุ่น ผักสลัด แครอท กาแฟ พลับ แมคคาเดเมีย ฯลฯ ด้านประมงและปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงปลา กบ แกะ สุกร เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ราษฎร โดยผลผลิตของเกษตรกร โครงการฯ ได้จัดหาตลาดจัดส่งให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และตามร้านค้าต่าง ๆ เช่น ตลาด อตก. กรุงเทพฯ และศูนย์จำหน่ายผักห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ 2) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ส่งเสริมให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรแผนใหม่ เกษตรอินทรีย์ สอนให้รู้จักการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีความลาดชันจนเกิดความชำนาญ และสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ตนเองได้ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพเสริมด้านประมงและปศุสัตว์ให้แก่ราษฎร 3) ด้านการส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร มีการจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่ ส่งเสริมการทำการตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่ราษฎรหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยว เช่น แปรรูปผลตภัณฑ์ชนเผ่า การทำสบู่กาแฟและบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มรายได้ 4) ด้านการศึกษา ได้จัดตั้งโรงเรียนบ้านห้วยหยวกป่าโซ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน และส่งเสริมให้ราษฎรที่เข้ามาทำงานในโครงการสถานีฯ ได้เรียนหนังสือขั้นพื้นฐาน ให้อ่านออก เขียนได้ โดยมีครูอาสาสมัครฯ เป็นผู้ให้ความรู้ 5) ด้านสาธารณสุข มีแพทย์และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแม่สลองใน มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้ามารักษาและให้ความรู้ด้านสุขอนามัยในชุมชนเป็นประจำ ราษฎรในชุมชนมีระบบสาธารณูปโภค ระบบน้ำประปาภูเขา ไฟฟ้า ถนน พลังงานทดแทน และระบบเตือนภัย ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร และ 6) ด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน มีการพบปะราษฎรเพื่อสร้างความคุ้นเคย ความไว้วางใจแก่ชุมชน และประสานงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชุมชนในการร่วมกันป้องกันการระบาดของยาเสพติดและป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้วางแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต ส่งเสริมการสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างถาวร เพื่อจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ตามแนวทางให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.