องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ครั้งที่ 5/2564 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)  

 

 
วันพุธที่ 29 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. นายพลากร  สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 5/2564 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขาทั้ง 5 แห่ง รวมทั้งโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) 
การประชุมครั้งนี้เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์สาขา ซึ่งได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ตลอดจนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คืนความสมบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2564 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้นำผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ขยายผลสำเร็จไปสู่ประชาชน โดยการสาธิต การฝึกอบรม และส่งเสริมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ปัจจุบันมีหลักสูตรฝึกอบรม ทั้งหมด 32 หลักสูตร อาทิ การเลี้ยงกบนาโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อซีเมนต์กลม การเพาะเห็ดเศรษฐกิจทำง่ายรายได้ดี การปลูกผักปลอดสารพิษเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร เช่น ชาเชียงดา ชาเห็ดหลินจือ สบู่ว่านหางจระเข้ สบู่นมแพะ เห็ดสวรรค์ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสร้างเกษตรกรตัวอย่าง และศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นสถานที่ขยายผลการเรียนรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จำนวน  22 แห่ง และศูนย์เรียนรู้เครือข่ายศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จำนวน 100 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ
สำหรับการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ปรับรูปแบบการทำงานตามแนวชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) มาปรับใช้ในการขยายผลนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจโดยผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ทั้งระบบ LINE, YOUTUBE, FACEBOOK หรือ Zoom meeting พร้อมจัดรถโมบายยูนิตให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สนับสนุนต้นกล้า ได้แก่ กล้าไม้ขนาดใหญ่ จำนวนกว่า 700,000 กล้า อาทิ กล้าไม้ไผ่ กล้าไม้โตเร็ว กล้าไม้ผล และกล้าไม้เศรษฐกิจ กล้าไม้ขนาดเล็ก จำนวนกว่า 50,000 กล้า อาทิ  พืชผัก สมุนไพร และไม้ดอก เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ 
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มีศูนย์สาขาในความดูแล จำนวน 5 แห่ง ดังนี้
1) ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ที่ให้ความรู้ด้านการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ในปี 2564 มีผลการดำเนินงาน ด้านการขยายผลไปยังกลุ่มประชาชนและเกษตรในพื้นที่ 11 จังหวัด จำนวน 26 กลุ่ม รวมสมาชิก จำนวน 409 คน ทั่วประเทศ ด้านงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืช ได้ดำเนินงานวิจัยการผลิตไม้ดอกหลายชนิด เช่น เทคโนโลยีการผลิตปทุมมาและกระเจียวนอกฤดู การบังคับการออกดอกของกล้วยไม้กลุ่มแวนดา และ ฟาแลนนอฟซิส การผลิตไม้ตัดดอกกลุ่มคัตเตอร์และมาร์กาเร็ต เป็นต้น นอกจากนี้ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน โดยดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กปร. บริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการผลิตไม้ดอกเมืองหนาวหลากหลายชนิด เช่น ทิวลิป ลิลลี่ ซากุระ และ ซิมบีเดียม เป็นต้น ซึ่งนำองค์ความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรของไทย เพื่อลดการนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ
2) โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้สมบูรณ์ พัฒนาแหล่งน้ำและที่ทำกินของราษฎร สำหรับการดำเนินงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำห้วยสาขาในเขตพื้นที่โครงการฯ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เป็นสวนลำไย ประมาณ 40,000 ไร่ และได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านท่ากอม่วง 2 ตำบลบ้านแปะ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เป็นสวนลำไย ประมาณ 700 ไร่ และงานก่อสร้างถังเก็บน้ำสนับสนุนราษฎรบ้านห้วยม่วงฝั่งซ้าย ตำบลแม่สอย เพื่อสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ของราษฎรบ้านห้วยม่วงฝั่งซ้าย จำนวน 50 ครัวเรือน ที่ขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนั้น ได้นำผลการสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มาขยายผลให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ด้านการเกษตร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปลูกไม้ผล การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และจัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น 
3) โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จำนวน 11 หมู่บ้าน สนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเครือข่ายการดำเนินงานในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำห้วยลานให้มีความอุดมสมบูรณ์และสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของราษฎร เรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่พื้นที่อื่นต่อไป
4) โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จรดพื้นที่อำเภอแม่ออน อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ได้นำองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ มาขยายผลในการพัฒนาและให้บริการประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งประสานงานกับชุมชนในพื้นที่ จำนวน 6 ตำบล 27 หมู่บ้าน สร้างเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวงเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการระดมความคิด ร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากป่าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์เชิงอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนในรูปกิจกรรมกลุ่ม 
5) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์ของป่า ส่งเสริมการแปรรรูปผลผลิตจากป่าและทางการเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานบนพื้นที่สูงเพื่อการผลิตอาหารสำหรับบริโภคสอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ปัจจุบันได้จัดทำแปลงสาธิตการทำเกษตรผสมผสาน ฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่อำเภออมก๋อยและสนับสนุนการรวมกลุ่ม อาทิ การดูแลต้นกาแฟ การเพาะเมล็ดกาแฟ การรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิต อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า สมอไทย และมะขามป้อมตากแห้ง เป็นต้น  ผู้สนใจในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรสามารถเข้าไปดูได้ทาง       เฟซบุ๊กแต่ละโครงการฯ

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.