องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  

 


 

       วันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำของแหล่งเก็บกักน้ำในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (อุโมงค์ส่งน้ำ แม่แตง – แม่งัด – แม่กวง) 

      โอกาสนี้ ผู้แทนกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีปริมาณน้ำเก็บกัก ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 11,771 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 14,064 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ย.2564) สำหรับสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่สำนักชลประทานที่ 1 มีปริมาณน้ำใช้การ จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คิดเป็น 26%  อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง คิดเป็น 35%  และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 191 แห่ง คิดเป็น 47%     ต่อจากนั้นคณะรับฟังความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา (อุโมงค์ส่งน้ำ แม่แตง – แม่งัด – แม่กวง) สืบเนื่องจากการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จึงเป็นปัญหากับลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งมีแหล่งน้ำสำคัญ ๆ คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ลำน้ำแม่แตง โดยส่งผลกระทบให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งมีขนาดความจุ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนถึงปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคตมีแนวโน้มการใช้น้ำที่สูงขึ้น สำหรับเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ และยังมีการระบายน้ำออกเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนอีกด้วย และลำน้ำแม่แตง มีปริมาณน้ำมากเกินความต้องการใช้น้ำ ทำให้มีน้ำส่วนเกินซึ่งมีปริมาณมากที่จะต้องระบายออกลงแม่น้ำปิง จากปัญหาของการใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา กรมชลประทาน จึงจัดทำโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราฯ โดยมีองค์ประกอบโครงการ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ  1) อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด โดยก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตงมายังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน และก่อสร้างอาคารสูบน้ำออกจากอุโมงค์ลอดแม่น้ำปิง งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ  2) อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง โดยก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ และ 3) ระบบท่อส่งน้ำแม่งัด – แม่แตง ซึ่งเป็นการวางท่อส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มายังคลองสายใหญ่ฝั่งขวาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง 

     ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ พร้อมเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 175,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงหน้าแล้งของพื้นที่ชลประทานจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ อีกทั้งยังสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมให้แก่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จากปีละ 13.31 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 49.99 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยนำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้า รวมถึงเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงหน้าแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จำนวน 14,550 ไร่ อีกด้วย

     จากนั้น เวลา 13.00 น. คณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปิดกั้นลำน้ำแม่แตง มีจำนวน 4 ช่อง ขนาดช่องระบายกว้าง 10.00 เมตร สูง 3.50 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,473.34 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
                                                                                                                                                                                                        

กองประชาสัมพันธ์                                                                                                                                                                                                       สำนักงาน กปร.