ศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี นายกฯท่องเที่ยวศรีสะเกษร่วมนายก TTAA พบผู้ว่าฯภูเก็ต หารือนำแนวทางภูเก็ตแซนบ๊อกซ์ ไปพลิกวิกฤติท่องเที่ยวไทยทุกพื้นที่
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริษัท พีเคซิตี้ทัวร์ จำกัด อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ และกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 19 -22 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ตนได้ร่วมเดินทางไป จ.ภูเก็ต กับนายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ นายกสมาคม TTAA ไทยบริการการท่องเที่ยว พร้อมคณะผู้เดินทาง จำนวน 17 คน ประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ อาทิ นางนวลจันทร์ เพียรธรรม อดีตนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยวเจ้าของบริษัทเอ็นซี ทัวร์ นางโสภา สุนีย์สุขวัฒนา ปฏิคม สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว นายนิรุติ เจริญประดิษฐ์ นางอัญชนา ราชคีรี และคณะ เพื่อร่วม “พลิกวิกฤตท่องเที่ยวไทย ด้วยตลาดพรีเมี่ยม ฟื้นภูเก็ตสร้างสีสันแห่งความสุข” ซึ่งมีการจัดการประชุมโดยมี ททท. และ สสปน.นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ฯ ผู้ประกอบการสมาชิกภาคใต้ เข้าร่วม TTAA – B2Match : Virtual & Hybrid Event โดยมี นายชัยพร ศุภนิมิตวิเศษกุล นายทะเบียนสมาคมไทยบริการท่องเที่ยวและประธานยุทธศาสตร์ไอที เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวศรีสะเกษ และกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อไปว่า ไฮไลท์ของการเดินทางครั้งนี้คือ ในวันที่ 20 ก.ย.64 คณะ 17 คนจาก TTAAได้เข้าพบปรึกษาหารือกับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ภูเก็ต ที่ศาลากลาง จ.ภูเก็ต เพื่อหารือเกี่ยวกับการเปิดประเทศ ตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยใช้ภูเก็ตแซนบ๊อกซ์นำร่อง ซึ่ง ผวจ.ภูเก็ต ได้เล่าให้คณะทราบถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ภายหลังเปิดประเทศ ซึ่งตนได้ฝาก ผวจ.ภูเก็ต ถึงเรื่องการเดินทางเข้าภูเก็ต ซึ่งคณะประสบปัญหาในคราวนี้คือ นอกจากทุกคนต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีน ยังต้องมีการตรวจ RT-PCR หรือตรวจ ATK ซึ่งผลตรวจต้องไม่เกิน 72 ชม.และเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจจำนวนมาก เพราะต้องมีการรับรองจากโรงพยาบาลครั้งละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท หรือหากตรวจ ATK ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 450 บาท ต้องมีสถานพยาบาลรับรอง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางมาจากอเมริกามาที่ จ.ภูเก็ตพร้อมคณะ ได้บ่นว่า พอลงเครื่องมาจากต่างประเทศก็ต้องเสียค่าตรวจต่าง ๆ สิ้นค่าใช้จ่ายไป 8,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกหลายรายการ ไหนว่าเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ทำไมยังไม่อำนวยความสะดวก ทั้งที่มีใบฉีดวัคซีนและตรวจมาแล้ว
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ เปิดเผยต่อไปว่า ช่วงก่อนจะขึ้นเครื่องไป จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่สายการบินที่ทำตั๋วก็ได้ตรวจใบฉีดวัคซีนแล้วให้ลง gophuket และลงทะเบียน ศบค. ตอนเช็คอิน แต่เมื่อลงจากเครื่องแล้วก็ยังตรวจอีกครั้งทำให้เสียเวลามาก ถ้าพวกเราพานักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากกว่านี้คงจะตกเครื่องกันหมด เพราะหลายคนก็ทำการลงทะเบียนไม่ได้ เพราะตัวหนังสือก็เล็กมาก ลงผิดก็ต้องย้อนกลับไปลงทะเบียนใหม่ อยากให้ช่วยหาวิธีที่สะดวกกว่านี้ ซึ่งท่าน ผวจ.ภูเก็ต แจ้งว่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นี้เคยมีการคุยกันมาก บางปัญหาก็อาจจะแก้ได้ในระดับจังหวัด บางปัญหาก็ต้องรอแก้จากเบื้องบน ซึ่งมี ศบค.เป็นผู้กำหนดมาตรการ ส่วนเรื่องที่ต้องมีการตรวจแบบนี้ เพราะแม้ตรวจแล้วก็ยังพบผู้ติดเชื้อ ทั้งที่มีใบตรวจ ATK มาให้ดู ตอนนี้ทาง จ.ภูเก็ต เองก็ได้พยายามทำทุกวิถีทางในการติดตามผู้เดินทางในระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย แบบ Smart check โดยขอให้กระทรวงเข้ามาวางระบบติดตามคน ทำ Big Data เพราะยังต้องอยู่กับโควิด-19 อีกนาน ซึ่งข้อมูลที่ได้รับทราบดังกล่าว พวกตนจะสามารถนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ สามารถทำศรีสะเกษแซนบ๊อก โดยดูตัวอย่างจากภูเก็ตได้ ซึ่งหากมีการร่วมมือระหว่างหลายฝ่ายในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมด่านตรวจคนเข้าเมือง อสม. คณะ ศบค.โดยมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมในการวางมาตรการการรับนักท่องเที่ยวด้วย เพื่อเตรียมการเปิดเมืองสร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไป และชุมชนมีความยั่งยืนจากการประกอบอาชีพภาคบริการ ทั้งด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรมต่อไป/////
ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ