องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ครั้งที่ 4/2564 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)  

 


 
วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ นายดนุชา  สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์สาขา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 4/2564 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)

โดยมีระเบียบวาระการประชุม คือ สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2563 เรื่องการประเมินผลแผนแม่บทศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปี 2560 – 2564 ซึ่งวันนี้เป็นการรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์สาขา ประกอบด้วย โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดราชบุรี

 สำหรับการการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มีดังนี้ 1) ด้านศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนา มีผลการศึกษาฯ จำนวน 15 เรื่อง  2) ด้านการขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 มีผู้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน จำนวน 383,143 คน ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 10,537 คน                     ในหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ การผลิตและใช้ถ่านชีวภาพปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ การผลิตพืชเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้น จำนวน 8 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตัวอย่างผลสำเร็จจากการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากศูนย์ฯ ไปปฏิบัติในพื้นที่ของตน และมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ความสำเร็จให้แก่ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้แนวพระราชดำริ 3) ด้านการบริหารจัดการองค์กร มีหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จำนวน 29 หมู่บ้าน 7,598 ครัวเรือน มีประชากร 19,778 คน โดยศูนย์ฯ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้

นอกจากนี้ได้เปิดอาคารแสดงและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรของศูนย์ศึกษา เช่น กลุ่มเกษตรกรบ้านหุบกะพง กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนป่าละอู กลุ่มเกษตรกรรอบศูนย์ศึกษาฯ รวมทั้งเกษตรกรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขา ในการนำผลิตภัณฑ์ และผลผลิตมาจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่กลุ่มเกษตรกร อาทิ กระเป๋า หมวก กล้วยอบสวนผึ้ง ยาสระผม ผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศึกษาฯ อีกมากมาย
 
โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี  ซึ่งได้ดำเนินการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเฉกเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ แต่มีขนาดย่อมกว่า โดยโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ขยายผลไปยังหมู่บ้านรอบโครงการฯ จำนวน 12 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 มีผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการฯ จำนวน 824,941 คน และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ปรับรูปแบบการฝึกอบรมจาก Onsite เป็น Online พร้อมกับจัดทำสื่อในรูปแบบอินโฟกราฟิกส์ (Infographics) และวีดิทัศน์องค์ความรู้เผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย ได้แก่ เฟชบุ๊ก และยูทูป เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังเปิดร้านจำหน่ายผลิตผลที่ปลอดสารบริเวณหน้าโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตและประชาชนได้บริโภคผักปลอดภัยอีกด้วย อีกทั้งยัง ได้ดำเนินการผลิตและแจกจ่าย “ชุดปลูกผักกินเอง ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” จัดส่งให้แก่ประชาชนทั่วไปกว่า 2,700 ชุด และแจกจ่ายต้นกล้าฟ้าทะลายโจร 16,000 กล้า อีกด้วย
 
 สำหรับโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 12 หมู่บ้าน 2 ตำบล คือตำบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี รวมพื้นที่ประมาณ 132,905 ไร่ ผลการดำเนินงานปี 2564 ประกอบด้วย 1) ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามพระราชดำริฯ หลักสูตรอาสาสมัครป้องกันไฟป่า กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาฯ สนับสนุนเครื่องมือในการดับไฟป่า เช่น ไม้กวาดทางมะพร้าวหนา คราดเหล็ก และสนับสนุนสิ่งของพระราชทาน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ราษฎรอาสาดับไฟ เช่น ผ้าพันคอติดเครื่องหมาย กพด. ข้าวสาร อาหารแห้ง หลักสูตรการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง เป็นผึ้งโพรง และชันโรง หลักสูตรการส่งเสริมการปลูกกล้วยในระบบวนเกษตร ได้ดำเนินการแจกพันธุ์กล้วย ไม้ป่า ไม้ผล ไม้เลี้ยงผึ้ง ให้กับสมาชิกและประชาชนทั่วไป 2) ด้านการให้บริการสถานที่ และวิชาการ ประกอบด้วย ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การจัดทำฝาย การทำแนวกันไฟ ปลูกป่า การทำแผนที่กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการลงพื้นที่สำรวจและศึกษาวิจัย ร่วมกับหน่วยงานภายนอก กิจกรรมศึกษาดูงานของประชาชนโดยทั่วไป มีประชาชนเข้าเยี่ยมชม ทำกิจกรรม และจัดอบรม อีกทั้งยังมีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย 3) การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จะรับซื้อผลิตผลจากกลุ่มเกษตรกร พร้อมกับส่งเสริมให้มีรายได้เสริม เพิ่มมูลค่าผลิตผลของเกษตรกร โดยนำมาแปรรูปเป็นกล้วยอบสวนผึ้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ประยุกต์เทคโนโลยีนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่าของผลผลิต 

สำหรับผู้สนใจสนับสนุนสินค้า ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเกษตรกรสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์ (เฟชบุ๊ก) หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง 


กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.