องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง  

        องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง
             วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.15 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการฝายคลองใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โอกาสนี้องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน จากนั้นพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรและกลุ่มบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาวและปลากระแห จำนวน 100,000 ตัว เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนสูงแก่ราษฎรในพื้นที่ และร่วมปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาแก่พื้นที่โครงการต่อไป
                 โครงการฝายคลองใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายคลองใหญ่ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามที่ราษฎรอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2537 โดยราษฎรในเขตหมู่ที่ 1 บ้านยูงงาม และหมู่ที่ 7 บ้านโหล๊ะคล้า ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง จำนวน 500 ครัวเรือน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ประมาณ 2,200 ไร่ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ต่อมาในปี 2539 สำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างฝายคลองใหญ่ฯ ในรูปแบบฝายคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดสันฝาย ยาว 20 เมตร สูง 2 เมตร ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 1 บ้านยูงงาม และหมู่ที่ 7 บ้านโหล๊ะคล้า ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง จำนวน 500 ครัวเรือน แต่เนื่องจากฝายดังกล่าวใช้งานมานานทำให้เกิดการชำรุดเสียหายประกอบกับราษฎรมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น โดยปรับเปลี่ยนการทำนา มาทำการเกษตรที่หลากหลาย อาทิ ทุเรียน มังคุด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปลูกพืชผักปลอดสารพิษ มีพื้นการเกษตรรวม  1,455 ไร่ สร้างรายได้รวม 26.57 ล้านบาท/ปี นอกจากนั้นยังมีรายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนและเชิงเกษตร ทั้งนี้ โครงการชลประทานตรัง ได้มีการปรับปรุง ซ่อมแซม ระบบท่อส่งน้ำโดยกำหนดแผนงานตั้งแต่ปี 2567-2570 เพื่อให้การส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงทุกครัวเรือน 

            ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านห้วยต่อน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ เยี่ยมชมโครงการ พบปะราษฎรและกลุ่มบริหารจัดการน้ำ และร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นร่มเงาแก่พื้นที่โครงการฯ
            พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ตามที่ราษฎรตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยต่อน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลไม้ฝาด เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ตำบลบ่อหิน ตำบลนาเมืองเพชร และตำบลไม้ฝาด ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคในหน้าแล้ง ต่อมาคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ได้มีการติดตาม เร่งรัดในการดำเนินโครงการตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในปี 2561 สำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยต่อน้อยพร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จในปี 2562 ปัจจุบันโครงการสามารถส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมการอุปโภคบริโภคของ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยต่อ, หมู่ที่ 2 บ้านห้วยต่อน้อย, และหมู่ที่ 3 บ้านไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ราษฎรประมาณ 1,920 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 3,810 คน มีน้ำใช้ในการทำเกษตร โดยสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เลือกปลูกพืชไม้ผลได้หลายชนิด เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด  นอกจากนี้ในปี 2568 – 2572 โครงการชลประทานตรัง ได้กำหนดแผนในการปรับปรุงระบบส่งน้ำเพื่อให้ใช้งานได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จังหวัดตรัง มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวมทั้งสิ้น 28 โครงการ แบ่งเป็นด้านแหล่งน้ำ 24 โครงการ  คมนาคม/สื่อสาร 1 โครงการ และสวัสดิการสังคม/การศึกษา 3 โครงการ

กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.